Tuesday, October 08, 2013

มาเล่าให้ฟังเรื่อง "ความสุข 3 ข้อ ใน 24 ชม."

พิมพ์ไประหว่างรอคิวตรวจหมอของลูกทั้งสอง พบว่าพี่วสุก็สร้างกลุ่มห้องระบายความสุขให้ทีม 6 โดยเอาแนวคิดเรื่องเล่าความสุข 3 ข้อ กิจกรรมที่ผมแนะนำลูกทีม OJT5 ไปประยุกต์ใช้

มาเล่าให้ฟังหน่อยแล้วกันว่า ข้าน้อยเอากิจกรรมนี้มาจากไหน ผมเจอครั้งแรกในค่ายหนึ่งของ อ.วิศิษฐ์ วังวิญญู (อาใหญ่) ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นค่ายสมองพุทธะ อาใหญ่ให้ทำกิจกรรมง่ายๆให้เราเขียนเรื่องราวที่เรามีความสุข 3 ข้อ ที่เกิดขึ้นใน 24ชม ที่ผ่านมา ก็เขียนลงในกระดาษ บรรยายความสุข เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้สึกต่างๆ เล่าให้เห็นภาพ พยายามเขียนให้ออกมาจากใจ มากกว่าที่จะออกมาจากความคิด ตรงนี้เป็นคีย์หลักสำคัญ เพราะกิจกรรมนี้พยายามที่จะใช้สมองซีกขวา ส่วนที่ใช้งานด้านความรู้สึก อารมณ์ต่างมากขึ้นแรกๆอาจจะไม่ชิน ก็มักได้เป็นข้อๆ ไม่มีการบรรยายความ แต่พอเราเริ่มเปิดโหมดอารมณ์ได้ ก็จะใส่ความรู้สึกเข้าไปมากขึ้น ถ้าสังเกตตอนที่เขียนเรื่องความสุขนั้น ช่วงที่เรานึกย้อนไป เราจะมีความสุขเสมือนกับตอนเกิดเรื่องนั้นจริงๆ

อาใหญ่เล่าว่า สมองเราให้ค่าจินตนาการเทียบเท่าเรื่องจริง บางคนที่มีความทุกข์นั้น หลายๆเรื่องยังไม่เกิดขึ้นจริงเลยด้วยซ้ำ แต่เป็นเรื่องราวที่กลัวจากจินตนาการของเราเอง เราอาจจะเคยเจอเรื่องคล้ายๆกัน ก็ดึงเอาประสบการณ์นั้นออกมา กลัวไปก่อนแล้ว อื่มเรื่องนี้เล่าจริงคงยาว เพราะอาจจะโยงไปเรื่องปมทางจิตวิทยาก็ได้ เพราะประสบการณ์ในอดีตยังคงอยู่ในฐานความจำ และสมองเราดึงออกมาอย่างไม่รู้ตัว เป็นจินตนาการ ทำให้คิดเอาว่า ต้องเป็นอย่างนั้ยอย่างนี้ในเรื่องจริงๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกิดก็ได้

เรื่องนี้ก็ตรงกับ การสอนลูกที่อ.กิ่งแก้ว เคยแนะนำไว้เหมือนกัน ว่าให้เราเล่นสมมุตกับลูกในเรื่องราวบางเรื่องที่เราอยากให้เขาได้โอกาสลองทำ เช่น เล่น theme ต่อสู้ ก็แทนที่จะเริ่มไปให้ต่อสู้กับคนอื่นๆ ก็ผ่านการสมมุติในจิตนาการเสียก่อน แกก็บอกเหมือนกันว่า จินตนาการ เท่ากับประสบการณ์จริง

กลับมาเรื่องความสุข ปกติเรามักจะนึกถึงความทุกข์ก่อนเสมอ คงเพราะเราไม่ชอบมั้ง เลยอยากจะกำจัดออก แต่ยิ่งคิดถึงมันก็ยิ่งทุกข์ ทำไมให้เขียนเรื่องความสุขละ ก็เพราะเรากำลังจะหัดมาหล่อเลี้ยงความสุขบ้าง เปิดให้งานสมองซีกขวา ส่วนที่ดูแลเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก จินตนาการ แล้วมันใช้ตรงไหนละ ก็ตรงการบรรยายอารมณ์ รายละเอียดเล็กๆน้อยๆที่ให้เขียนลงไปนั้นแหละ

จากนั้นถ้าให้ครบกระบวนการ ก็จะนั่งจับกลุ่มแชร์เรื่องเล่าของตัวเองให้คนอื่นๆฟัง การบอกเล่าเรื่องราวนั้น ก็ย้ำความสุขเข้าไปอีกครั้งหนึ่งอีก การฟังเรื่องราวความสุขของคนอื่น เราก็พลอยรู้สึกมีความสุขไปกับเขาด้วย ก็ได้ความสุขกลับมาอีก

อาใหญ่ เล่าให้ฟังต่อว่า กิจกรรมนี้เขาใช้ในการรักษาคนเป็นโรคซึมเศร้าได้ แต่แกเอามาปรับใช้กับกระบวนการเรียนรู้ ผมอ่านเจอในบทความของอาใหญ่เก่าๆ แกใช้การหล่อเลี้ยงความสุขนี้แหละ ค่อยมาพิจารณาความทุกข์ หรือปมอื่นๆที่เราติดขัดอยู่ ไม่ใช่ว่า สุข จะไปหักล้างกับ ทุกข์ มันก็สุขด้วย ทุกข์ด้วย แต่มันไม่ได้ทุกข์ไปทั้งหมด เรายังพอมีแรงสู้ต่อไปได้

การสร้างความสุข อาใหญ่ยังเล่าต่อว่าเมื่อเราใช้สมองซีกขวา หรือเวลาที่เรารู้ตัว มีสติ มันจะไปสร้างส่วนของ Mid Brain มากขึ้น ก็เก็บไปเรื่อยๆ ผมจำไม่ได้แล้วว่า สมองซีกขวาจะเชื่อมกับ จิตไร้สำนึก ง่ายกว่า สมองซีกซ้าย(ด้านตระกะ) คุ้นๆว่าอย่างนั้นนะ

กิจกรรมนี้จะช่วยให้เรามองโลกในด้านดีขึ้น เราพบกับความสุขได้ง่ายขึ้น เราจมกับความทุกข์ต่างๆได้น้อยลง เราเรียนรู้ที่จะละเมียดละมัยกับสิ่งต่างๆรอบข้าง ใช้ชีวิตช้าลงบ้าง เราก็เปิดโหลดเข้าสู้การจินตนาการได้ดีขึ้น อยู่ในโหลดปกติได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่โหมดปกป้อง ที่เครียด วุ่นวายกับทุกเรื่อง

แล้วมันเกี่ยวกับการเทรดอย่างไร เล่าจากประสบการณ์ผมดีกว่า เมื่อมองโลกในด้านดีขึ้น ก็ดูจะใจเย็นมากขึ้น มีความสุขง่ายขึ้น เครียดน้อยลง Mindset ดีขึ้นและสนุกกับการเทรดมากขึ้น เมื่อยามพลาดก็ยังพอที่จะมองเห็นโอกาส ไม่กระวนกระวาย ไม่ทุกข์ หรือโทษตัวเองกับความผิดพลาด มีสติดีขึ้น พอที่จะอภัย และเรียนรู้จากความผิดพลาดเหล่านั้นแทน

กิจกรรมนี้ ผมไม่ได้ทำเป็นประจำหรอกครับ ก็ทำที่เข้าค่ายนั้นแหละ แต่ใช้วิธีการมีความสุขเล็กๆ การละเมียดละไมกับสิ่งรอบข้างแบบง่ายๆ ไปเรื่อยๆ อย่างเรื่อง การนั่งชิบกาแฟช้าๆ สูดกลิ่น การเดินชมความงามท้องฟ้า การสังเกตุบรรยากาศของผู้คนในยามที่ผมเดินทางในแต่ละวัน แต่เมื่อเราแนะนำให้ลูกทีมได้ลองทำกิจกรรมนี้ ผมในฐานะโค้ชก็ควรแสดงให้เห็นเป็นตัวอย่างก่อน ไปๆมาๆ ผมก็พบความสุขในการเขียนบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นความสุขหนึ่งที่เข้ามาเติมเต็มชีวิตเราได้อีก ... ^^

Thursday, February 28, 2013

บันทึกเรื่องราวการเรียนรู้จากค่ายต่อยอดกระบวนกร และโค้ชชิ่ง ก.พ. 56

เริ่มต้นด้วยความอยากเขียนสรุปการเรียนรู้ของตัวเองจากค่ายต่อยอดกระบวนกร 3 วัน จริงๆก็ยังงงๆอยู่ว่า เอ้ เราเรียนรู้อะไรมาบ้างนะ รู้อย่างเดียวว่าเหนื่อยชิบเป๋ง ออกมาจากค่ายแล้ว ยังรู้สึกพักผ่อนไม่เพียงพอเลย กินเยอะกว่าปกติ ทั้งๆที่ไม่ได้ออกแรงอะไรเลย นั่งๆนอนๆ

ในความรู้สึกส่วนตัว ผมว่าค่ายนี้เป็นค่ายที่โคตรเปราะบางเลย ทั้งทีมกระบวนกรเอง และผู้เข้าร่วม โดยเฉพาะ ครูผึ้ง (ขอเรียกว่าครูก่อน) จำได้ว่าแซวกันในวันสุดท้าย ว่าแทบจะลุกขึ้นไปบอกหยุดร้องไห้เถอะ ไม่ไหวแล้ว แต่ต่างกันก็ต่างรู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน เปราะบางกันทั้งคู่

ค่ายนี้ได้เจอครู พี่น้อง ที่คิดถึงๆ เป็นค่ายที่รู้สึกว่า connect กับผึ้งและต้องมากขึ้น จากที่เคยรู้สึกว่า connect ในค่ายก่อนๆ ค่ายนี้ เปราะบางของเขา กลายเป็นเปราะบางของเราด้วย จะบ้าตาย เหนื่อยโคตรๆ

เสียดายตัวเองที่ไม่ค่อยได้มีโอกาศคุยกับคนอื่นมากนัก ตามประสา คนติดครอบครัว ไปสายช่วงเช้าเป็นประจำ ทำให้เวลาน้อยลงไปอีก (เป็นข้ออ้างให้ดูดี)

กลับมาที่การเรียนรู้ว่าได้อะไรบ้าง ก็เรียบเรียงไม่ถูก อาจจะเริ่มต้นจาก กระบวนกร คือ อะไรดีกว่ามั้ง คำว่ากระบวนกร ที่ตัวเองเข้าใจคือ ผู้นำกระบวนการ กระบวนการที่นำไปสู่การเรียนรู้ของผู้เข้าร่วม กระบวนกรก็เป็นคนธรรมดาๆนี้แหละ ไม่ได้เป็นคนวิเศษ มีภูมิธรรมอะไรมาก ก็เป็นปุถุชนคนธรรมดาเหมือนเรา แต่เขาก็ผ่านการฝึกตัวเอง ฝึกเรียนรู้ การเปิดรับ และการน้อมรับ มากกว่าพวกเรา

เคยเข้าค่ายหลายครั้ง ก็พบว่า ปมปัญหาที่ซ้อนเร้นของเรา ได้ถูกคลี่คลาย และเยียวยามาเรื่อยๆ แอบเคยคิดว่า พวกกระบวนกรเหล่านี้ คงผ่านพ้นเวลาวิกฤติเช่นเรามาแล้วกระมั้ง ค่ายนี้ก็เรียนรู้ว่า ไอ้ที่เรารู้สึกว่าเรามีปมอยู่มากมายนั้น พวกเหล่ากระบวนกรดูท่าทางจะมีปมชีวิตมากกว่าเราอีกมั้งเนี้ย

ในความเป็นจริง คนเรามีปมชีวิตอยู่ทุกคน ไม่มากก็น้อย รู้หรือไม่รู้ และดูเหมือนปมพวกนี้ หลบซ่อนและแอบทำงานอยู่ลึกๆ ผ่านทางจิตไร้สำนึกอยู่ตลอดเวลา โดยที่เราไม่รู้ตัว

และเช่นเดียวกัน งานหนึ่งของกระบวนกร คือ การนำพาผู้เข้าร่วมไปสัมผัสการดำรงอยู่ของปมทางจิตวิทยาที่ซ่อนอยู่นั้น เพื่อให้ตระหนักเกิดความตื่นรู้ของตัวเขาเอง หน้าที่ของกระบวนกรไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่า การอยู่ร่วมทาง ประคองเขาให้รับรู้ และสัมผัส ความเปราะบาง ความเจ็บปวด บาดแผลของปมจิตวิทยาของเขาเอง และเมื่อนั้น การรู้ตื่น ก็จะเกิดขึ้นจากตัวเขาเอง

จากภาวะอัตโนมัติที่หลับไหล ที่ทำงานมาตลอดโดยที่เขาไม่รู้ตัว ก็จะเกิดการรู้ เกิดปัญญา สมอง จิต ความรู้สึก ก็จะเริ่มๆต่อสาย วางเส้นทางใหม่ที่ละนิดทีละนิด ภาษาง่ายๆที่ อาใหญ่ใช้คือ สมองจะเริ่มรื้อ และเขียนโปรแกรมใหม่ ผมชอบคำว่ารื้อ เพราะว่ามันจะเป็นไปช้าๆ ค่อยๆเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ซึ่งแปลว่าต้องใช้เวลา ทุกครั้งที่ได้เรียนรู้ และเข้าใจบาดแผลนั้น ปัญญาก็จะเกิดขึ้นตลอด สมองก็มีโอกาสได้เขียนเส้นทางใหม่ จากเส้นทางอัตโนมัติเดิมๆ ที่เราเลือก หรือถูกบังคับให้เลือก(จากจิตใต้สำนึก) เส้นทางใหม่ก็เกิดขึ้นมาเป็นทางเลือกให้กับเรา ซึ่งแปลว่า จะเลือก หรือไม่เลือกก็ได้ เป็นสิทธิของเรา ไม่ใช่ดังเช่นเดิมแล้ว

มีทางลัดของการเป็นกระบวนกร หรือไม่เป็นหัวข้อที่อาใหญ่ ตั้งขึ้นมาในวงการเรียนรู้ และได้ต้องบอกเล่าเรื่องราวการเรียนรู้ของตัวเอง ซึ่งก็ถือว่าเป็นทางลัด ในสายตาของคนในชุมชน และอย่างน้อยก็ในความรู้สึกของผมด้วย เรื่องราวที่จะบอกต่อไปนี้ ขอเป็นการถ่ายทอดจากความรู้สึกของผม ที่รับรู้ผ่านฐานใจ เพราะเรื่องราวนั้นสั่นสะเทือนผมตลอดทุกถ้อยคำ

ต้องบอกเล่าว่า เขาเข้ามาด้วยความหวัง หาที่พึ่งพิงทางใจ จากเด็กติดยาคนหนึ่ง และเหมือนจะขาดความรักความอบอุ่นจากพ่อและแม่ ลุงเป็นที่พึ่งพิงทางใจคนเดียวที่มอบความรัก ความอบอุ่นให้ต้องมาตลอดในช่วงแรก จากความรักความศรัทธานั้น ต้องเปิดรับความรู้ และการทดลองทำแบบฝึกหัดต่างๆ ด้วยความเชื่อมั่นหมดหัวใจ ตั้งแค่การอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ แม้ว่าต้องเปิดดิกชั่นนารี่ทุกคำก็ไม่บ่น ไม่ท้อ การหัดเขียนเรื่องราว บทความ และหัดแปลหนังสือด้านจิตวิทยา ความสนิทสนมระหว่าง ครู ศิษย์ ทำให้เกิดความปลอดภัย กล้าทดลอง กล้าทำ ตรงนี้ศัพท์ของอาใหญ่ ใช้คำว่ากล้ามั่ว ส่วนตัวคิดว่าก็ไม่มั่วนะ เรียกว่ากล้านำไปทดลอง ไม่กลัวที่จะผิดพลาด ไม่กลัวปัญหาใหม่ที่เราไม่รู้มากกว่า และความสนิทสนม ทำให้ใจชื่น เมื่อพลาดเมื่อผิด เกิดปัญหาที่แก้ไม่ออก ก็กลับมาหา มาถก มาเรียนกับครูได้ตลอดเวลา

อาใหญ๋ใช้คำหนึ่งตรงนี้ ว่า ครู และศิษย์ ต่อท่อตรงถึงกัน มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงด้วยสมองซีกขวา ไม่ตัดสินถูกผิด และประเด็นนี้ ดูเหมือนจะเป็นหัวใจสำคัญของการเป็นกระบวนกรด้วย

การ connect ระหว่างกันด้วยสมองซีกขวา บางครั้งเราก็ใช้คำว่า จากใจถึงใจ ทำให้เชื่อมโยงกัน มีพลังอุ่นๆ และด้วยพลังนี้แหละ จะเหนี่ยวนำให้คนกล้าที่จะเผชิญอุปสรรค และกล้าที่จะก้าวข้ามขอบ ปมทางจิตวิทยาของตัวเขาเอง

กระบวนกรต้องฝึกฝนเรียนรู้ที่จะโยกย้ายสมองซีกซ้าย มาสู่สมองซีกขวา จากการคิดการตีความ การตัดสิน มาเป็นการฟังด้วยความรู้สึก การโอบอุ้ม เปิดกว้าง ไม่วิภาษวิจารณ์ ไม่ตัดสิน รับฟังและอยู่ร่วมจริงๆ

คำถามที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คือ แล้วเราจะฝึกสมองซีกขวาอย่างไรกันแหละ อาใหญ่บอกว่า การมองเป็นภาพ ก็ฝึกได้ การอยู่กับการสั่นไหว ไม่เข้าไปตัดสินคนอื่น และอะไรอีกไม่รู้ จำไม่ได้ เพราะสมองบวมแล้วตอนนั้น

มีโจทย์อันหนึ่งเกิดขึ้นในวงสนทนาวงใหญ่ เรื่องตัวตน มีคำพูดหนึ่งที่น่าขำ แต่ก็เป็นความจริงคือ ผู้เข้าร่วมมักจะคาดหวังว่า กระบวนกร จะตอบได้ทุกเรื่อง แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ซึ่งกระบวนกรเองก็ไม่รู้หรอก ก็แค่ชวนกันมาคิดต่อ และติดเป็นการบ้านให้ ผมก็นึกถึงตัวเอง เราก็เป็นอย่างนั้นนะ เราก็อยากได้คำตอบ อยากได้ solution อยากได้ template มาใช้เลย หลังจากเคยถามเรื่องประมาณนี้กับครูพบ อ.กิ่งแก้ว และอาจารย์ท่านอื่นๆ ก็พบว่า เออ ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป ไม่มีเวลาที่ชัดเจน วิธีการสำหรับคนหนึ่ง ณ เวลานั้น ก็ต่างกับคนอื่น หรือแม้แต่กับคนเดียวกัน แต่ ณ เวลาที่ต่างกันไปด้วยซ้ำ

ค่ายนี้ ผมเรียนรู้ที่จะอยู่กับความขัดแย้ง อยู่กับการไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น การรู้ตัวที่จะเข้าไปตัดสินถูกผิด ตอนนั้นมันแว๊บขึ้นมาว่า จริงๆคนที่เข้าใจผิดอาจจะเป็นเราด้วยซ้ำไป เราอยากพูดให้ถูก เพราะว่ามันไปตอบสนองตัวตนของเราเท่านั้นกระมั่ง

การอยู่กับความขัดแย้งเป็นเรื่องใหม่สำหรับผม มันดูหงุดหงิดน่ารำคาญ แต่ผ่านไปได้มันก็เป็นอรรถรสที่แปลกไป แม้ว่าไม่เห็นด้วย การบอกต่อวงสนทนาว่า ผมไม่เห็นด้วย ก็คงปลดปล่อยพลังงานด้านลบของผมออกไปเหมือนกัน และตื่นเต้นที่ผู้อื่นในวงก็รู้สึกโอเค สบายๆ รับรู้ และยอมรับการไม่เห็นด้วยของผม เอ้ เราคงคิดมากไปหรือเปล่าว่า เขาจะตอบโต้ด้านลบกลับมา

มีเรื่องหนึ่งที่ ครูพบ พูดในวงหนึ่งน่าสนใจ และอาจจะสอดคล้องกับเรื่องนี้คือ เราชอบคิด fantasy ไปก่อนแล้วว่า มันจะเจออะไร มันจะเลวร้ายอย่างไร และปรุงแต่งไปเรื่อยๆ และอีกด้านหนึ่งคือ เราเองก็ไม่มีไอเดียด้วยซ้ำว่า เราทำแบบนั้นแบบนี้ได้ เพราะว่าเราไม่เคยนึกไม่เคยคิดมาก่อน ใช้แต่ทางเดิมๆ … ผมชอบคำว่า เราไม่มีไอเดีย ด้วยซ้ำ มีคำถามวงนั้นว่า แล้วเราต้องทำอย่างไรละถึงจะมีไอเดีย คำตอบง่ายแสนง่าย คือ ก็ลองดูสิ ว่าผลจะเป็นอย่างไร

ครูพบเป็นครูที่มีพลังอุ่นๆให้กับผมเสมอ คำพูดครุพบมักจะไปสะกิดอะไรบางอย่างในตัวผม ให้เกิดแนวคิดดีๆ หรือปัญญาที่นำไปสู่การปฏิบัติ

เรื่องหนึ่งที่สำคัญในค่ายนี้ จริงๆผมว่าสำคัญหมดทุกค่ายกระมัง คือ ความเปราะบาง โดยทั่วไปคำนี้มักสร้างความหมายด้านลบ เป็นความอ่อนแอ การพ่ายแพ้ ปัญหา หรืออุปสรรคใหญ่หลวง จุดอ่อน ผมลองเอาคำนี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันละ คนจะเข้าใจความหมายด้านลบ และไม่คิดถึงคำด้านบวกสักเท่าไร

เขียนถึงตอนนี้ นึกถึงคำของน้องคนหนึ่งในค่าย ที่บอกเล่าให้ฟังว่า เขาไม่รู้เรื่องศัพท์แสงที่ใช้กันในวงเท่าไร ยังคุยกับเพื่อนๆว่า นี้เหมือนจะเป็นโลกพวกเทพๆเขากระมัง อะไรก็ไม่รู้ เปราะบาง กระทิง เยียวยา ตัวตน แล้วก็ศัพท์อะไรนึกไม่ออก เพราะต้องคิดไป 3-4 ชั้นก่อนจะเข้าใจ ปวดหัวมาก.... เอ้ จะคุยกับคนอื่นยังไงดีนะ ตอนนี้ฉันเปราะบาง ต้องการการเยียวยาจากแกวะ …. ถ้อยคำไม่กี่ประโยคจากน้องสาวคนน้อย สร้างเสียงหัวเราะ และทำให้วงกระชับขึ้นมา และคอนเนคกันอย่างประหลาด นี้กระมังที่อาใหญ่ ใช้คำว่า กระบวนกร เราใช้การสื่อสารที่มีอารมณ์ความรู้สึก ข้อความจะเข้าไปสู่ที่ใจคนฟังง่ายที่สุด

กลับมาที่การเปราะบาง มีกิจกรรมหนึ่งที่ อาใหญ่ ให้โจทย์พวกเราเข้าไปสู่ความเปราะบาง และลองโอบอุ้มกันในวงเล็กๆ ส่วนตัวรู้สึกว่าแต่ละคนก็อยากจะเปราะบาง อยากจะวางเกราะ วางการ์ดลง ยอมเป็นเด็กน้อยผู้เปราะบางกันทุกคน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดี ส่วนหนึ่งเพราะว่าเขาไม่รู้สึกปลอดภัยเพียงพอที่จะผ่อนคลาย และยอมรับการเข้าสู่ภาวะการเปราะบาง ซึ่งในความหมายคนทั่วไปคือ ความอ่อนแอ แต่นั้นแหละ เมื่อมีใครสักคนวางใจและยอมเข้าสู่ความเปราะบาง แชร์เรื่องราวออกมา กระแสธารนั้นเหนี่ยวนำผู้อื่นเข้าสู่ภาวะนี้เช่นเดียวกัน และ ณ ช่วงเวลานั้นเอง วงเล็กๆต่างต่อท่อพลังงานเข้าหากันเรียบร้อยแล้ว หลายครั้งเรื่องราวของคนอื่น ความเปราะบางของเขา เราก็รับรู้ได้เหมือนเป็นความเปราะบางของเรา มันมีจุดร่วมบางอย่าง และเรื่องราวของเรา ก็ได้สะกิดอะไรบางอย่างในตัวเขาเช่นเดียวกัน

การเรียนรู้ความเปราะบางของผมในวันนั้นอาจจะแตกต่างออกไป ผมรู้สึกว่าตัวผมสั่น และตัวตนผู้พิทักษ์ออกมา ผมจับได้จากลักษณะท่าทางของตัวเองที่มักจะนั่งกอดเข่าตอนที่รู้สึกไม่ปลอดภัย ผมรู้จักตัวตนนี้ตอนที่เข้าคอร์ส voice dialogue กับเจมี่ และเมื่อรู้ตัว ก็ลองอยู่แบบสั่นดูสิ ขอบคุณผู้พิทักษ์นะ แต่ขอลองยืนบนขอบเล็กๆนี้ดูสิ ผมบอกคนอื่นๆว่า ผมกลัว ผมตัวสั่น ผมไม่รู้ว่าผมจะทำอะไรดี ขออยู่สักแป๊บนะ มันคงเป็นการบอกกล่าวความเปราะบางสั้นๆง่ายๆ เริ่มต้นออกมา และก็เริ่มต้นเข้าสู่วงสนทนาระหว่างกันในความเปราะบาง

เรื่องราวของเขาชั่งคล้ายๆกับความทุกข์ของเราเลย อารมณ์อยากช่วย อยากนำพา อยากแนะนำ และอะไรไม่รู้ คำถามในหัวเกิดขึ้นเต็มไปหมด เราควรต้องทำอย่างไรดี เราต้องให้เขาเปราะบางกว่านี้ไหม เราต้องบอกเรื่องของเรา หรือสิ่งที่เราเคยเจอมาหรือเปล่า เราต้องทำตอนไหนดี จังหวะนี้เราต้องทำอะไร สมองสับสน อื้ออึง ได้แต่ทำตามที่ตัวเองอยากทำ รู้ตัว ไม่พยายามให้ข้อมูลถล่ำลึกจนกลายเป็นพล่าม และเป็นกำลังใจให้กัน

วันนั้นกลับมาถามอาใหญว่า ในเวลาแบบนั้นผมควรจะทำเช่นไรดี มีคำถามเกิดขึ้นมากมายในหัวผม คำตอบกลับเรียบง่ายกระชับ ไม่ต้องทำอะไร อยู่กับเขา โอบอุ้มเขาให้เขาเผชิญหน้ากับสิ่งที่เขาพบ และเขาจะเกิดปัญญาด้วยตัวเขาเอง

คำตอบนี้ และเหตุการณ์ในค่าย จริงๆต้องขอบคุณเรื่องราวของลิลลี่ ที่อาใหญ่เล่าให้ฟังในวันสุดท้ายด้วย ทำให้ผมเข้าใจเรื่องการข้ามขอบ และคำสอนครูบาอาจารย์ที่เคยสั่งสอนเรามาแล้วหลายครั้ง คนจะข้ามขอบได้ ก็ต้องด้วยตัวเขาเอง เราทำได้แค่เป็นกำลังใจ เป็นกัลยานมิตร คอยยืนเคียงข้างเขาเท่านั้น

หลายเรื่องก็เคยเรียนมาแล้วในค่ายก่อนๆ ก็เข้าใจมากขึ้น เรื่องไหนไม่ค่อยจะเข้าใจ ค่ายนี้ก็กระจ่ายขึ้น และเชื่อมโยงระหว่างกันได้มากขึ้น ส่วนเรื่องไหนเรายังไม่เข้าใจก็ปล่อยๆไป ไม่ต้องรีบเข้าใจก็ได้มั้ง

อย่างเรื่องต้นไม้ มินเดล ตรงแดนฝันที่เคยงงๆ วันนี้ก็เข้าใจมากขึ้นว่า เราจะเข้าถึงญาณทัศนะ eldership คำสอน หรือคำชี้ทางออก ได้นั้น เราก็ควรอยู่ในสภาวะที่เปิดรับได้ ยอมรับกับปมจิตวิทยาตัวเอง ยอมรับกับเรา และผู้อื่น นั้นคือ การเข้าไปอยู่ในภาวะเปราะบางนั้นเอง สภาวะที่พร้อมที่จะเรียนรู้ และรับรู้ เข้าใจ อยู่ร่วม และไม่ตัดสิน การออกจากโหมดปกป้อง การผ่อนคลายตัวเอง ให้เข้าสู่กระแสของคลื่นอัลฟา

อย่างหนึ่งที่รู้สึกคือจากที่เคยคิดว่า ปัญหาใคร ปัญหามัน ลึกๆมันมีจุดเชื่อมต่อกันบางอย่าง ซึ่งเป็นอะไรก็ไม่รู้ ถ้าในมินเดล ก็บอกว่า ราก แก่น บรมธรรม ซึ่งก็ตั้งเอาไว้ก่อนละกัน

วันสุดท้าย หลังจากรับรู้ความเปราะบางของคนอื่นๆมามาก ผมก็ได้เปิดเผยความเปราะบางของตัวเองในวงสนทนาวงใหญ่ หลังจากที่อาใหญ่ร้องเพลง … ผมจำชื่อไม่ได้ และแปลออกมาให้พวกเราฟัง เนื้อเพลงงดงามมาก อารมณ์ อัศวินยังคงต่อสู้ต่อไป และกล้าหาญมาก แม้ว่าจะรู้ว่าไม่สามารถเอาชนะอุปสรรคนั้นได้ แต่ก็ยังคงสู้ต่อไป คนในวงรู้สึกได้รับพลัง และรับปากจะมาสู้ต่อในเส้นทางกระบวนกร

สำหรับตัวเอง ผลลัพท์ต่างกันมาก ผมรู้สึกเหนื่อยมาก ร่างกายทรมาน ความรู้สึกมันท่วมท้นออกมา ความเศร้า มันนั่งไม่ไหว ต้องเดินไปเดินมา มีอะไรไม่รู้อัดแน่นอยู่ในตัวเอง จนทนกับสภาวะนั้นไม่ได้ต้องหยิบไมค์ บอกกล่าวความรู้สึกออกมา มาถึงตอนนี้ผมจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าผมได้เอ่ยปากบอกเล่าอะไรไปบ้าง ผมบอกไปตามที่ใจรู้สึก ผมบอกว่าผมทรมาน ผมเห็นคนอื่นทุกข์ ผมก็อยากจะช่วย ผมไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไง ผมฟังเพลง ผมสงสารอัศวินคนนั้น ผมก็อยากจะช่วยเขา ผมรู้สึกว่าเขาทุกข์ทรมาน ผมสงสาร หรือจริงๆ ผมอาจจะอิจฉาอัศวินคนนั้นก็ได้ ที่เขายังคงสู้ต่อไป แม้รู้ว่ามันยาก แม้รู้ว่าโอกาสเป็นไปได้แทบไม่มี และการสู้นั้นเป็นเส้นทางเดียวที่ทำให้เขารู้สึกมีคุณค่า ผมจำได้ว่าตัวผมสั่นสะท้านไปทั้งตัว ไม่รู้มันเป็นอะไร รู้แต่ว่ามันทุกข์มาก เศร้าทรมานมาก ร้องไห้อยู่นานแสนนาน แต่ก็ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว มีคนทั้งวงรับฟังเรื่องราว และความทุกข์ของผม มีครูกิ๊บ และปาน คอยสนับสนุน โอบอุ้มความรู้สึกผมอยู่ข้างๆ

ความประหลาดของตัวเองประสบ คือ เมื่อเปิดเผยความเปราะบางนั้น และบอกเล่าเรื่องราวออกมาแล้ว ความทุกข์ผมหายไปแล้ว โลกแจ่มใส ฟ้าสว่างขึ้นมาทันที หลายคนก็เป็นห่วงผมว่าผมจะยังคงทุกข์ ผมก็อาจจะทุกข์กระมัง ไม่รู้สิ แต่มันสบายใจแล้ว ร่างกายไม่หนักเหมือนก่อนแล้ว ผมไม่รู้สึกโดดเดี่ยวแล้วมั้ง

แต่ละวันที่อยู่ค่ายกลับมานอนหลับเป็นตาย เรียกว่าสลบอาจจะเหมาะสมกว่า กลับบ้านข้าวเย็นนี้กินๆๆ วันสุดท้ายผมกินไป 3 จาน ยังไม่ค่อยรู้สึกอิ่ม มันเหนื่อยมาจากไหนก็ไม่รู้ เป็นค่ายที่รู้สึกใช้พลังงานเยอะมากๆ และแอบขำว่า จะเปราะบางกันมากไปไหม โคตรเหนื่อยเลยอะ

จบค่าย 3 วันก่อนแยกย้าย เราก็ร่ำลากัน ทั้งน้ำตาบ้าง ทั้งเสียงหัวเราะบ้าง คุยกันคล้ายรู้จักกันมานาน แต่ไม่อยากจากกันไปไหน ผมนึกเสมอว่า เราต่างเป็นครู เป็นเพื่อน เป็นศิษย์ เป็นพี่เป็นน้อง เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เส้นทางของเรานั้นไม่ได้เดินไปคนเดียวแน่นอนแล้ว พวกเราเดินไปด้วยกัน ไม่ทิ้งกัน คอยช่วยเหลือกันตลอดเส้นทาง ผมรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ

Thursday, January 03, 2013

เรื่องราวในปี 2555 ที่อยากบอกกล่าวกับชาวค่าย

เห็นหลายๆคนบอกกล่าว การทบทวนการเรียนรู้ต่างๆของตัวเองในปีที่ผ่านมา ว่าเป็นอย่างไรบ้าง และมีเป้าหมายที่จะทำอย่างไรต่อในปี 2556 นี้

ปี 2555 ถือว่าเป็นปีแห่งการเข้าค่ายของผมมากๆ ไล่มาตั้งแต่ ดูแลผู้หล่อเลี้ยง / เล่นกับลูกให้สนุก / เล่นกับลูกให้สนุกต่อยอด / เยียวยาผู้หล่อเลี้ยง / Voice Dialogue Foundation / Floortime จริงๆอยากเข้าค่ายเยอะกว่านี้อีก แต่ก็นะ งานประจำ และหน้าที่ความรับผิดชอบค้ำคออยู่

แต่ละค่ายเหมือนค่อยๆปลดเกราะตัวเองออกที่ละชิ้นๆ มีเรื่องให้เรียนรู้ตัวเองเพิ่มขึ้นไปทีละนิดๆ จนบอกกล่าวเป็นเรื่องราวทีละค่าย ก็คงย่อยไม่หมด แต่ละค่ายโจทย์ชีวิตแต่ละช่วงแตกต่างกัน แม้ว่าจะมารู้ที่หลังว่า พื้นฐานของโจทย์นั้นมันคือเรื่องเดียวกัน รู้แต่ว่า มันค่อยๆประกอบจิ๊กซอร์ที่ละชิ้นๆ มาเป็นภาพชีวิตตัวเอง ค่อยๆเข้าใจ และทำความรู้จักตัวเองมากขึ้นๆ

ก็แปลกดีนะ ที่เราอยู่มาจนโตป่านนี้ พึ่งจะเข้าใจตัวเองจริงๆ ทั้งๆที่เหมือนจะรู้จักบ้าง คลับคล้ายคลับครา แต่จริงๆก็เหมือนไม่รู้จักเลยดีกว่า สิ่งนี้ก็เป็นเรื่องราวที่น่าอัศจรรย์ใจในกระบวนการของชาวค่ายมาก ที่จัดสรรสภาวะ สิ่งแวดล้อม และตัวเราเอง ให้พร้อมเรียนรู้จากข้างในของตัวเอง ไม่มีถูกไม่มีผิด ไม่มีมากไม่มีน้อย แต่ละคนอาจจะเรียนรู้ต่างกันไป แม้ว่าจะอยู่ในวงเดียวกันด้วยซ้ำ การแชร์เรื่องราวของแต่ละคน กลับไปสร้างวงจรความคิดที่แตกต่าง ทั้งเสริม และชักชวนให้คิดหลากหลาย ไม่นำไปสู่การขัดแย้ง หรือการปกป้องความคิดของตน ตรงนี้น่าสนใจที่ว่า ทักษะการฟัง นี้มาช่วยให้การดำเนินชีวิตปกติมีสีสรรชีวิตมาก เปิดโลกทัศน์ของตัวเองให้กว้างออกไป ยอมรับความอ่อนด้อยของตัวเอง และพร้อมที่จะน้อมรับความคิดที่แตกต่างได้มากขึ้น (ใช้คำว่ามากขึ้นเพราะบางครั้งก็หลุด .. ฮา)

ชาวค่าย สร้างแรงบันดาลใจให้ผมเยอะมากจริงๆ มันหายไปจากตัวผมนานแล้ว จะบอกว่ามันเคยมีหรือเปล่า ก็ไม่แน่ใจ เพราะจำไม่ได้แล้วว่า แรงบันดาลใจให้อยากทำอะไรจริงๆ มองเห็นสิ่งที่ตนเองอยากเป็น อยากมี คืออะไรกันแน่ ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นอยากให้เราเป็น หรือสิ่งที่เราไปเลียนแบบเขามา เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรจะต้องเป็น

คำพูดของอาใหญ่ ที่บอกกล่าวให้ผม อาจจะจำประโยคชัดๆไม่ได้ แต่เนื้อหาใจความเป็นอย่างนี้ครับ ลัทลองคิดว่า ความรู้สึกที่มีความทุกข์ และมันเยอะมากขนาดนั้น ทำให้ลัทเข้าใจความทุกข์ได้มากกว่าคนอื่นๆ และนั้นละ การเรียนรู้นั้นทำให้ลัทช่วยคนอื่นที่เขามีทุกข์ได้มากมาย

ช่วงเวลานั้นเป็นจุดกำเนิดของแรงบันดาลใจ ผมอยากเรียนรู้ กระบวนกร บ้าง ผมเริ่มรู้สึกรัก และมีความสุขในสิ่งที่ได้บอกกล่าว และแชร์ความรู้ตัวเองให้กับผู้อื่น การเป็นโค้ช การเป็น Mentor การเป็นที่ปรึกษา น่าจะเป็นสิ่งที่ผมชอบและอยากทำ... ว่าแล้วก็กราบอาใหญ่ ขอเป็นศิษย์เรียนรู้โลกภายใน และเส้นทางกระบวนกร แต่สิ่งที่ต้องทำก็ยังต้องทำ หน้าที่ความรับผิดชอบก็ยังต้องทำต่อไป คงยังไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ คงต้องเป็นลูกศิษย์ที่ตามเรียนรู้อยู่ห่างๆเช่นนี้ต่อไปก่อน
สำหรับผม กระบวนกร ไม่ใช่อาชีพ ผมอยากใช้วิชานี้ นำพาลูก ครอบครัว เพื่อน ญาติ และคนใกล้ชิด ห้ามอุปสรรคต่างๆของเขา นำสู่การเรียนรู้สิ่งต่างๆที่เขาอยากเรียนอยากศึกษา นั้นคือฝันของผม

ผมรู้สึกเอาเองนะว่า ผมเปลี่ยนไป และเชื่อว่าสิ่งที่ทำให้เปลี่ยน ก็คงมาจากเรื่องราวในชาวค่ายนี้แหละครับ ความรักความอบอุ่น และพลังงานต่างๆที่ ชาวค่ายมอบให้ผม มันมีค่ามากมายนัก โดยเฉพาะในค่ายเยียวยา ในการฟา ตัววิจารณ์ ซึ่งเป็นด่านสำคัญ และใหญ่ที่สุดสำหรับผม ตัวเสียงวิจารณ์ภายในนี้ ในอดีตมันเกือบแอบมาทำลาย หมายจ้องเอาชีวิตผมอย่างโกรธแค้นการมีอยู่ของชายคนนี้

มันก็ตลกดีนะครับ ที่แว๊บแรกที่จะเริ่มเขียนเรื่องราวชาวค่าย สิ่งที่อยากขอบคุณมากที่สุด คือ เจ้าตัวเสียงวิจารณ์ภายในนี้แหละ ขอบคุณการมีอยู่ของเขา ขอบคุณที่ทำให้เรามีบทเรียนของชีวิตหนัก และ ขอบคุณที่ทำให้เราได้เรียนรู้เขาในวันนี้ เพราะตอนนี้ เริ่มว่างพอที่จะหันมองคนอื่นๆ และพบว่า พวกเขายังสับสนและยังไม่เข้าใจเรื่องเสียงวิจารณ์ บางคนก็ละเลยเสียงนั้น พาลไม่ฟัง ข่มเสียงวิจารณ์นั้น ปิดกั้นความรู้สึกนั้น ไม่เรียนรู้ แต่เลือกที่จะเพิกเฉย หรืออดทนไปวันๆ ปล่อยะให้มันหลบอยู่ข้างใน เหมือนที่ อาใหญ่ เขียนในบทความล่าสุด "ตอนที่ ๑๔ พันธนาการกับเด็กน้อย หรือความสั่นไหว"

เมื่อเขาละเลยเสียงวิจารณ์ภายใน เขาก็ยากที่จะก้าวผ่านกำแพง และขอบเขตของตัวตนไปได้ และต้องยอมทนทรมานอยู่ต่อไปเรื่อยๆ และเสียงวิจารณ์นั้นก็คงมีพลังรุนแรงๆขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อให้เราได้ยิน และรับรู้อีกด้านหนึ่งของเราเสียที ท้ายสุดวงจรเลวร้ายคงเกิดขึ้นเช่นเดียวกับที่ผมเคยเจอมา

เสียงวิจารณ์ภายในก็ยังมาทำให้ผมหลุดอยู่เนืองๆนะ ดีที่ว่าเดียวนี้ระยะเวลาตอนหลุดสั้นลง และไม่ถี่เหมือนในอดีต มันก็ทำงานของมันไป พอสติ ก็หายไป ไม่โกรธไม่เกลียดมันมากแล้ว กลับมาทบทวนตัวเองต่อ อะไรหน่อ ที่ทำให้เราโกรธ มีเสียงไหนอีกหน่อ ที่ยังคงอยู่ในความทรงจำ เหตุการณ์ใดหน่อ ที่มันเคยเป็นแผลเก่าในอดีต เรียนรู้ที่จะกลับไปมองบาดแผล และความเจ็บปวดนั้น ยอมรับเรื่องราวนั้นๆ จะใช้คำว่าทำใจ ก็คงไม่ใช่ แค่รู้ว่ามันคงเป็นอย่างนั้นเอง คนอื่นๆเขาก็เป็นอย่างนั้นเอง เราก็เป็นอย่างนี้เอง ผมว่าคำ " ยอม รับ " ดูเป็นคำที่เหมาะสมสุดละ

ระหว่างเขียนก็เช่นเคย ผมยังคงไม่สามารถหยุดได้ในข้อความสั้นๆ ระหว่างทางยังคงใคร่ครวญตัวเอง และทบทวนเรื่องราวในหัวต่อไปเรื่อย
ผมอยากกราบขอบคุณ ครูบาอาจารย์ชาวค่ายทุกๆท่าน อาใหญ่ ครูพบ ครูผึ้ง ครูแอน อ.กิ่งแก้ว พี่ไก่ น้องต้อง และกระบวนกรท่านอื่นๆ รวมถึงชาวค่ายทุกๆท่าน ผมไม่รู้ว่ามันคืออะไรนะ แต่รู้สึกถึงพลังงานของพี่ๆเพื่อนๆน้องๆที่นี้ได้ต่อท่อเข้ามาที่ใจผมตรงๆ เวลาที่ผมเหนื่อย ท้อ ทุกข์ นอกจากครอบครัวที่คอยให้กำลังใจแล้ว ก็ได้พวกพี่ๆนี้แหละที่คอยชาร์ตแบตเตอรี่ชีวิตที่อ่อนๆอยู่ ให้กลับเต็มขึ้นมาได้อย่างประหลาด

และขอขอบคุณจิ๋ว น้องภูมิ และน๊องน้อง (ภรรยา ลูกชาย และเจ้าตัวเล็กในครรค์) ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมก้าวข้ามจากขอบเหวชีวิต ร่วมทางเรียนรู้โลกภายในด้วยกัน และยังคงท้าทายการเรียนรู้โลกภายในของผมไปเรื่อยๆ @^_^@