Wednesday, September 13, 2006

Daylight Saving Time หรือ Summer Time ปัญหากวนใจของนักพยากรณ์

เรื่อง Daylight Saving Time หรือ Summer Time มักจะเป็นเรื่องที่ทำให้เราคำนวนดวงชะตา ผิดพลาดอยู่เสมอ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ประเทศไทยไม่ได้ใช้ Daylight Saving Time และไม่ค่อยได้คำนวนดวงชะตาชาวต่างชาติ หรือคนที่เกิดที่ต่างประเทศกันมากนั้น

"Daylight Saving Time" มักใช้เรียกกันในโซนอเมริกา และใช้คำว่า "Summer Time" ในโซนยุโรป Daylight Saving Time หรือ Summer Time คือ การปรับเวลาให้เร็วกว่าปกติ 1 ชั่วโมงในช่วงฤดูร้อน เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานในช่วงค่ำ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีระยะเวลากลางวันมากกว่ากลางคืน (เช้าเร็วกว่าปกติ และค่ำช้ากว่าปกติ) การปรับเวลา Saving Time นี้จะใช้ในประเทศที่มีละติจูดมากว่าแนว 23.5 เหนือ/ใต้ (Temperate Zone)


การเริ่มต้นช่วงเวลาของ Summer Time หรือ Daylight Saving Time แต่ละประเทศจะไม่ตรงกันทั้งหมดครับ ขึ้นอยู่กับกฏหมายของ และข้อตกลงร่วมกันของแต่ละประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น
ข่าวล่าสุดเรื่องของ Daylight Saving Time ใน อเมริกา พึ่งมีการออกกฏหมายใหม่ของกระทรวง พลังงาน ประกาศเปลี่ยนแปลงช่วงเวลา saving time ในปี 2007 เป็นต้นไป โดยให้เริ่ม วันอาทิตย์ที่ 2 ของ มีนาคม จนถึง วันอาทิตย์แรกของ พฤศจิกายน

จากเดิมที่เป็น 2 a.m. ของ วันอาทิตย์แรก ของเมษายน จนถึง 2 a.m. ของ วันอาทิตย์สุดท้ายของ ตุลาคม

ในปฏิทินราฟาเอล ก็มีการระบุช่วงเวลา summer time ในแต่ละปี ของ อังกฤษ อยู่ ส่วนข้อมูลของ Summer Time ของประเทศอื่นๆ ก็ต้องหาข้อมูลกันเอง ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเวปไซต์ที่เกี่ยวข้อง แต่หากโปรแกรมโหราศาสตร์ที่ใช้มีฐานข้อมูลอยู่แล้วก็สะดวกหน่อย

ตัวอย่างช่วงเวลาของ Daylight Saving Time ของ US และ Summer Time ของ ยุโรป ในช่วงปัจจุบัน





ปัจจุบันโปรแกรมทางโหราศาสตร์ที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป เช่น Solar Fire หรือ Janus เป็นต้น ก็จะมีฐานข้อมูลในTime Zone ตามช่วงเวลา Daylight Saving Time ของแต่ละประเทศเพราะเริ่มต้นไม่ตรงกันทุกประเทศ และพร้อมทั้งปรับแก้เวลาท้องถิ่น ให้เป็น GMT เพื่อใช้ในการคำนวนดวงชะตาต่อไป (เข้าใจว่า Virgo 5 ก็น่าจะมีฐานข้อมูลนี้อยู่)

เรามาลองคำนวนหาเวลา GMT จากเวลา Daylight Saving Time กันดีกว่า

ตัวอย่างจากข่าวการปล่อยยาน Atlantis จากข้อมูล NASA
http://www.nasa.gov/mission_pages/shuttle/launch/index.html
Space Shuttle Mission STS-115 Orbiter: Atlantis
Mission: Space Station Assembly Mission 12A
Payload: P3/P4 Integrated Truss Segment
Launch Date: Sept. 9Launch Time: 11:15 a.m. EDT
Launch Pad: 39B Mission Duration: 11 days
Landing Date: Sept. 20, 2006
Landing Time: 5:57 a.m. EDT

สิ่งที่สังเกตุได้ชัดเจนจากข้อมูล NASA คือ วิธีการบอกเวลา 2 อย่างควบคู่กัน คือ เวลาท้องถิ่น และTime Zone ท้องถิ่น ณ ขณะนั้นด้วย ดังนั้นเวลาเราถามเวลาเกิดของชาวต่างชาติ หรือคนที่เกิดในต่างประเทศ นักพยากรณ์ก็ต้องถามเสมอว่า ใช้ Time Zone อะไร หรือ เป็นช่วง Saving Time หรือเปล่า จะมาใช้ Standard Time Zone ทั่วไปของท้องถิ่นนั้น มาคำนวนเลยทันทีไม่ได้

Time Zone ปกติ (Standard Time) ของ Florida คือ GMT -5 แต่เมื่อเป็นช่วง EDT - Eastern Daylight Time นั้น จะมีการปรับเวลาให้เร็วขึ้นกว่าปกติ 1 ชั่วโมง ดังนั้น Time Zone ของ Florida จึงกลายเป็น GMT -4

ดังนั้น เวลาที่ยาน atlantis ปล่อยในคือ 11.15 (EDT) 9 กันยายน 2549 สามารถแปลงให้เป็นเวลาปกติ (Standard Time) โดยการหักออก 1 ชั่วโมง จะได้เวลา 10.15 (GMT - 5)

แปลงเป็นเวลา GMT = 10.15 + 5 = 15.15

หรือแปลงโดยใช้เวลาท้องถิ่นเลย 11.15 EDT (GMT-4)

แปลงเป็นเวลา GMT = 11.15 + 4 = 15.15

ซึ่งก็ได้ผลลัพท์เดียวกัน

จากนั้น เราสามารถนำเวลา GMT ที่ได้ กับ Latitude และ Longitude ของสถานที่ ไปคำนวนหา Sideral Time เพื่อใช้ในการคำนวนดวงชะตาต่อไป

หากเราต้องการแปลงเวลาท้องถิ่นที่ปล่อยยานให้เป็นเวลาไทย ก็สามารถทำไม่ยาก

เริ่มต้นจาก Time Zone ของประเทศไทย คือ GMT+7

เวลา GMT คือ 15.15

สามารถเทียบเป็นเวลาในประเทศไทยได้เท่ากัน 15.15 + 7 = 22.15


สาระสำคัญของ โหราศาสตร์ คือ กาละ (Time) และ เทศะ (Space) จริงๆ

หมายเหตุ
รวบรวมจากการเข้าไปตอบกระทู้ Webboard ของ เวปคุณโรจน์

ที่มา
http://www.worldtimezone.com/daylight.html
http://webexhibits.org/daylightsaving/b.html
http://webexhibits.org/daylightsaving/g.html
http://en.wikipedia.org/wiki/Temperate
http://en.wikipedia.org/wiki/Daylight_saving_time

Monday, September 11, 2006

ต้นกำเนิดของวันทั้ง 7 ในสัปดาห์

ผมเคยสงสัยมาตลอดว่าทำไมเราถึงใช้สัปดาห์มี 7 วัน ทำไมไม่ทำให้สอดคล้องกับเดือนในแต่ละเดือน หรือจำนวนวัน ใน 1 ปี เคยลองพยายามหาสมมุติฐานไปเรื่อย สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดคือ หลักการของทฤษฏีวงรอบของจันทรคติ คือ ประมาณ 28-30 วันต่อ 1 รอบ

ต้นกำเนิด และที่มาทำไมต้อง 7 วัน

จากการค้นคว้าหาข้อมูล พบว่า การใช้สัปดาห์มี 7 วัน มีมาตั้งแต่ยุคสุเมเรีย และบาบิโลน โดยมีการบันทึกไว้เป็นลายลัาษณ์อักษรเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกว่า ว่าได้มีการกำหนดให้หนึ่งสัปดาห์มี 7 วัน เมื่อประมานปีที่ 2350 ก่อนคริสตศักราช (2350BC) โดยกษัตริย์ซาร์ก้อนที่หนึ่งแห่งนครอัคคาด (Sargon I, King of Akkad) ภายหลังจากที่ได้ยึดครองเมืองอูร์ (Ur) และเมืองอื่น ๆ ในคว้นซูเมอร์เรีย (Sumeria) ชื่อของกษัตริย์องค์นี้ และเมืองนี้มีการอ้างถึงในหนังสือคัมภีร์สูตรเรือนชะตาของอาจาร์ยประยูร ผมจะไปค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วกลับมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป

นอกจากเมืองอูร์จะเป็นต้นกำเนิดของการกำหนดให้สัปดาห์หนึ่งมีเจ็ดวันแล้ว ยังเป็นต้นกำเนิดของการกำหนดให้หนึ่งชั่วโมงมี 60 นาทีด้วย เพราะในยุคนั้น ชาวซุเมอร์เรียนใช้ระบบเลขหลัก 60 ในการคำนวน (แทนการใช้ระบบทศนิยมในปัจจุบัน)

ในยุคสมัยนั้น มนุษย์มีความเชื่อว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล หรือเรียกว่า Geocentric ดวงอาทิตย์ และสิ่งต่างบนท้องฟ้าต่างโคจรรอบโลก และค้นพบว่ามีดาวเคราะห์ที่สามารถสังเกตุได้ด้วยตาเปล่า (naked eye planets) อยู่ 5 ดวง ซึ่งประกอบด้วย ดาวพุธ ดาวอังคาร ดาวศุกร์ ดาวพฤหัส และดาวเสาร์ เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ (Fix Stars) หรือกลุ่มดาวในจักรราศี และเมื่อรวมกับ ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ก็จะมีดาวบริวารของโลกทั้งสิ้น 7 ดวง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำไมสัปดาห์จึงมี 7 วัน จะเห็นได้จากชื่อที่ใช้เรียกในแต่ละวันยังคงมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับดาว หรือตามตำนานของเทพเจ้าประจำดาว ทั้ง 7

การเรียงลำดับของวันในสัปดาห์ (Order)

และเมื่อค้นลึกลงไปอีก ก็เป็นที่น่าประหลาดใจและเหลือเชื่ออย่างยิ่งว่า จริงๆแล้วการเรียงวันในสัปดาห์ มีรากฐานมาจากโหราศาสตร์นั้นเอง

เมื่อโลกเป็นสูตรกลางของจักรวาล โดยมีดาวทั้ง 7 ดวงที่โคจรอยู่รอบโลกนั้น ดาวก็ถูกจัดเรียงลำดับตามระบบปโตเลมี (Ptolemaic system) คือ เรียงจากดาวไกลสุดจากโลกมากที่สุดมายังดาวใกล้โลกมากที่สุด โดยใช้อัตราการโคจรรอบโลกเป็นตัววัด จึงได้การเรียงลำดับดังนี้ เสาร์ พฤหัส อังคาร อาทิตย์ ศุกร์ พุธ และจันทร์ ดังรูปที่แสดง




และจากนั้นให้แต่ละชั่วโมงมีดาวเป็นดาวประจำชั่วโมงอยู่ โดยเรียงลำดับตาม เสาร์ พฤหัส อังคาร อาทิตย์ ศุกร์ พุธ และจันทร์ ตามลำดับ และวนรอบไปเรื่อยๆ ซึ่งเรียกว่า “Planetary Hour” ซึ่งก็คือ ระบบยามแบบสากล นั้นเอง

Planetary Hour หรือ ยามแบบสากล เป็นวิธีการทำนายกาลชะตา (Horary) แบบหนึ่ง ซึ่งยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แล้วผมจะมาเล่าเพิ่มเติม ว่าน่าสนใจเพียงใด มีวิธีการทำนาย และการคำนวนอย่างไร

รูปที่แสดง ดาว 7 แฉก ตามยามแต่ละชั่วโมง (Heptagram of the week)

ชั่วโมงแรกของรุ่งอรุณของวันที่ 1 เริ่มต้นที่ ดาวเสาร์ ให้ชื่อว่า “ชั่วโมงของเสาร์” ถัดไปชั่วโมงที่ 2 เป็น “ชั่วโมงของพฤหัส” ชั่วโมงที่ 3 เป็น “ชั่วโมงของอังคาร” เป็นต้น และเมื่อครบรอบ 7 ชั่วโมง (ชั่วโมงของจันทร์) ก็จะวนกลับมาที่ “ชั่วโมงของเสาร์” ใหม่ เป็นวงรอบไปเรื่อยๆไม่รู้จบ

ดังนั้นชั่วโมงที่ 25 หรือชั่วโมงที่ 1 ของวันที่ 2 ก็จะเป็น “ชั่วโมงของอาทิตย์” และชั่วโมงที่ 49 หรือชั่วโมงที่ 1 ของวันที่ 3 คือ “ชั่วโมงของจันทร์”

และเมื่อเรียงลำดับชั่วโมงไปเรื่อย ครบทั้ง 7 วัน เราก็จะพบว่าชื่อของวันนั้น คือ ดาวที่ประจำของรุ่งอรุณในแต่ละวัน ดังนั้นจริงๆ แล้ววันแรกในสัปดาห์จะเริ่มต้นด้วย “วันเสาร์” และถัดไปคือ วันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พฤหัสบดี และ ศุกร์ ตามลำดับ


หากท่านใดมีความรู้เรื่องยามอัฐกาล ของโหราศาสตร์ไทย ก็จะพบว่าลำดับดาวพระเคราห์ประจำยามในภาคกลางวัน มีการเรียงลำดับตามระบบปโตเลมี ซึ่งอาจาร์ยพูลหลวง เคยเขียนบทความถึงความมหัศจรรย์ของดาว 7 แฉกนี้ ทั้งเรื่องของยามอัฐกาล และ เลข 7 ตัว


ชื่อวัน ใน 1 สัปดาห์ (The Names of the Days)

การกำหนดชื่อวันในแต่ละสัปดาห์ในทุกชาติทุกภาษาจะตั้งชื่อให้เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าในตำนาน หรือมีความหมายตามดาวดาวทั้ง 7 แทบทั้งสิ้น สมัยแรกๆ จะให้วันเสาร์ (Saturday) เป็นวันแรกของสัปดาห์ ต่อมา ได้นับถือดวงอาทิตย์มากขึ้น จึงให้วันของดวงอาทิตย์ (Sun's day) เลื่อนอันดับ จากวันอันดับที่ 2 ของสัปดาห์ เป็นวันแรกของสัปดาห์แทน ทำให้วันเสาร์ กลายเป็นวันลำดับที่ 7 ของสัปดาห์ไปในที่สุด

วันอาทิตย์ (Sunday)
มีชื่อมาจากภาษาละติน ว่า "dies solis" หมายถึง "วันของดวงอาทิตย์" (Sun's day) เป็นชื่อวันหยุดของคนนอกศาสนา และต่อมา ถูกเรียกว่า "Dominica" (ภาษาละติน) หมายถึง "วันของพระเจ้า" (the Day of God) ต่อมา ภาษาที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน เช่น ฝรั่งเศส, สเปน, อิตาเลี่ยน ก็ยังคงใช้คำที่คล้ายกับรากศัพท์ดังกล่าว เช่น

ภาษาฝรั่งเศส: dimanche;
ภาษาอิตาเลี่ยน: domenica;
ภาษาสเปน: domingo
ภาษาเยอรมัน: Sonntag;
ภาษาดัทช์: zondag ทั้งหมดมีความหมายว่า "Sun-day"

วันจันทร์ (Monday)

มีชื่อมาจากคำว่า "monandaeg" หมายถึง "วันของดวงจันทร์" (The Moon's day) เป็นวันที่สองของสัปดาห์ ที่ตั้งขึ้นมา เพื่อสักการะ "เทพธิดาแห่งดวงจันทร์" (The goddess of the moon)

ภาษาฝรั่งเศส: lundi;
ภาษาอิตาเลี่ยน: lunedi;
ภาษาสเปน: lunes (มาจากคำว่า Luna หมายถึง "ดวงจันทร์")
ภาษาเยอรมัน: Montag;
ภาษาดัทช์: maandag ทั้งหมดมีความหมายว่า "Moon-day"

วันอังคาร (Tuesday)

เป็นชื่อเทพเจ้า Tyr ของชาวนอรเวโบราณ (The Norse god Tyr) ส่วนชาวโรมัน เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพเจ้าสงคราม แห่งดาวอังคาร (the war-god Mars) ว่า "Dies Martis"

ภาษาฝรั่งเศส: mardi;
ภาษาอิตาเลี่ยน: martedi;
ภาษาสเปน: martes
ภาษาเยอรมัน: Diensdag;
ภาษาดัทช์: dinsdag;
ภาษาสวีเดน: tisdag

วันพุธ (Wednesday)

เป็นวันที่ตั้งเป็นเกียรติสำหรับ เทพเจ้า Odin ของชาวสวีเดน และนอรเวโบราณ ส่วนชาวโรมันเรียกว่า "dies Mercurii" สำหรับใช้เรียกเทพเจ้า Mercury (ประจำดาวพุธ)

ภาษาฝรั่งเศส: mercredi;
ภาษาอิตาเลี่ยน: mercoledi;
ภาษาสเปน: miercoles
ภาษาเยอรมัน: Mittwoch;
ภาษาดัทช์: woensdag

วันพฤหัสบดี (Thursday)

เป็นชื่อเทพเจ้า Thor ของชาวนอรเวโบราณ (The Norse god Thor) เรียกว่า "Torsdag" ส่วนชาวโรมัน เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพเจ้า Jove หรือ Jupiter ซึ่งเป็นเทพเจ้า แห่งเทพทั้งปวง และเรียกวันนี้ว่า "dies Jovis" หมายถึง วันของ Jove (Jove's Day)

ภาษาฝรั่งเศส: jeudi;
ภาษาอิตาเลี่ยน: giovedi;
ภาษาสเปน: el jueves
ภาษาเยอรมัน: Donnerstag;
ภาษาดัทช์: donderdag ทั้งหมดมีความหมายว่า "วันสายฟ้า" (Thundar day)

วันศุกร์ (Friday)

เป็นชื่อเทพธิดา Frigg ของชาวนอรเวโบราณ (The Norse goddess Frigg) ภาษาเยอรมันเคยเรียกว่า "frigedag" ส่วนชาวโรมัน เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพธิดา Venus ว่า "dies veneris"

ภาษาฝรั่งเศส: vendredi;
ภาษาอิตาเลี่ยน: venerdi;
ภาษาสเปน: viernes
ภาษาเยอรมัน: Freitag;
ภาษาดัทช์: vrijdag

วันเสาร์ (Saturday)

ชาวโรมันใช้เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพเจ้า Saturn ว่า "dies Saturni" หมายถึง Saturn's Day.


ภาษาฝรั่งเศส: samedi;
ภาษาอิตาเลี่ยน: sabato;
ภาษาสเปน: el sabado
ภาษาเยอรมัน: Samstag;
ภาษาดัทช์: zaterdag;
ภาษาสวีเดน: Lordag
ภาษาเดนมาร์คและนอรเว: Lordag หมายถึง "วันชำระล้าง" (Washing day)


ที่มา :
http://en.wikipedia.org/wiki/days_of_the_week

http://www.walkinthelight.ca/History

http://www.hermetic.ch/cal_stud/hlwc/why_seven.htm

http://www.pantheon.org/miscellaneous/origin_days.html

http://www.skeptics.com.au/journal/1995/1_calendar.htm

http://www.users.globalnet.co.uk/~loxias/week.htm

http://web1.dara.ac.th/daraspace/Mythology/DayMonthName.htm

http://www.renaissanceastrology.com/planetaryhoursarticle.html

6 ขั้นตอนสู่การ ดูหมอ อย่างคุ้มค่า

บางคนอาจเคยมีปัญหาว่าอยากดูหมอ แต่ไม่รู้ต้องทำอย่างไร ต้องเตรียมตัวหรือเปล่า ต้องถามอะไรบ้าง เรื่องอย่างนี้อาจเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับนักดูหมอมืออาชีพ แต่สำหรับมือใหม่หัดดูเป็นเรื่องใหญ่เลยทีเดียว ผมมีข้อแนะนำให้เป็นแนวทางสำหรับการดูหมออย่างมืออาชีพ

ขั้นแรก : วันเดือนปีเกิด และเวลาเกิด

ในกรณีที่เราไม่รู้วันและเวลาเกิดเลย ก็คงต้องเลือกดูประเภท ไพ่ยิบซี ลายมือ โหว้งเฮ้ง เพราะสามารถพยากรณ์ได้โดยไม่ต้องใช้วันและเวลาเกิดเลย (อย่างไรก็ตามถ้าเรารู้วันเดือนปีเกิด หรืออย่างน้อยอายุของเรา นักพยากรณ์ศาสตร์ประเภทนี้ก็สามารถพยากรณ์ได้แม่นยำมากขึ้น)

ผมแนะนำว่าให้แปลงวันและเวลาเกิดเข้ามาอยู่ในระบบสากลเสียก่อน และก็ต้องบอก หมอดู ว่าเราอ้างอิงตามหลักสากลนะ เพื่อป้องกันการสับสันทั้งเราและหมอดู เพราะ โหราศาสตร์ มีหลายแขนง ซึ่งใช้ปฏิทินแบบ สุริยคติ (เช่นเดียวกับปฏิทินที่เราใช้ในปัจจุบัน) และ จันทรคติ (เช่น ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 4 ปีขาล)

เวลาเกิดที่ใกล้เคียงที่สุด พร้อมระบุแหล่งที่มา เพื่อเป็นข้อมูลประกอบสำหรับหมอดูว่ามีความน่าเชื่อถือได้แค่ไหน ขอย้ำว่าให้แปลงเป็นเวลาสากลเสียก่อนนะครับ เพราะ หมอดู บางคนอาจจะไม่ทราบข้อมูล หรือวิธีการแปลง เช่น เวลาเป็น “โมงยาม” ของไทย หรือเวลาเป็น “ซี่” ของจีน รวมถึงเวลาที่ครอบครัวเท่านั้นที่รู้ เช่น ตอนรถไฟกำลังผ่านหน้าบ้านพอดี พ่อพาวัวไปกินหญ้า หรือ แม่กำลังนั่งเล่นไพ่แล้วปวดท้องขึ้นมา ฯลฯ

ขั้นที่สอง การเลือก หมอดู

หลังจากทดลอง ทดสอบมาหลายศาสตร์ พบปะพูดคุยกับ หมอดู มาก็มาก ตั้งแต่ระดับสุดยอดโหราจารย์ ยันนักเรียนใหม่หัดทาย สุดท้ายผมก็พบว่าจริงๆแล้วศาสตร์การพยากรณ์ทุกแขนงให้ความแม่นยำเที่ยงตรงในการพยากรณ์แทบทั้งสิ้น ความแม่นยำนั้นขึ้นอยู่กับ หมอดู ว่าจะเก่งและเชี่ยวชาญเพียงไหน ดังนั้นเราไม่ต้องไปเชื่อคำโฆษณาว่า ศาสตร์นี้แม่นที่สุด แบบนั้นไม่แม่น แบบนี้แม่นกว่า เราเลือกหมอดูศาสตร์ไหนก็ได้ ให้ถูกกับจริตเรา คือ เราชอบ เท่านั้นพอ

ในปัจจุบันเราสามารถหาข้อมูลสถานที่ติดต่อ และเบอร์โทรศัพท์ของ หมอดู ได้ไม่ยาก ทั้งจากเวปไซต์ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร สถานที่ประจำที่เรารู้จักกันทั่วไป เช่น ท่าพระจันทร์ วัด สมาคมที่เกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์ทั่วไป รวมถึง AudioText 1900

แต่วิธีการที่ผมแนะนำมากที่สุด คือการให้ลองสอบถามจากเพื่อน หรือคนรู้จักว่าประทับใจหมอดูท่านไหนบ้าง เพื่อเราสามารถตรวจสอบลักษณะเบื้องต้นของ หมอดู ได้ ว่าเราถูกใจหรือไม่

ผมพอจะสรุปลักษณะของหมอดูที่ดี ได้ดังนี้

  • ใช้หลักใน การพยากรณ์ ทำนาย จริงๆ ไม่ใช่เป็นอวดอ้างอิทธิฤทธิ หรือปาฏิหาร
  • มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการพยากรณ์ มากน้อยขึ้นอยู่กับระดับความสำคัญของเรื่องที่ต้องการปรึกษา
  • ใช้ภาษาทั่วไปที่เข้าใจง่าย ไม่พูดศัพท์เทคนิคจนเราฟังไม่รู้เรื่อง งง และสับสน
  • ไม่เป็นคนตัดสิน หรือกำหนดชะตาชีวิต หรือทางเลือกให้เรา แต่เป็นผู้ให้ข้อมูลเหตุการณ์ หรือแนวโน้มของเหตุการณ์ในอนาคตที่เราจะเผชิญพร้อม
  • ให้เราสอบถามเพิ่มเติมได้ตามสมควร ไม่เรื่องมาก หรือหงุดหงิดใส่เรา
  • และสุดท้าย อัตราค่าบริการสมเหตุสมผล เหมาะสมกับฐานะ และความพึงพอใจของเรา
ขั้นที่สาม ถามอะไรดี

ผมรวบรวมคำถามทั่วไปยอดฮิตในการดูหมอมาให้ เพื่อเป็นแนวทางในการถามของไว้ตามหมวดหมู่ดังนี้

ธุรกิจ และการเงิน
  • จะรวยไหม สุดยอดคำถามอันดับ 1
  • สามารถขอกู้ หรือหาหุ้นส่วนได้ไหม
  • ธุรกิจจะมีปัญหาการเงินหรือไม่
  • ตอนไหนช่วงไหนเหมาะสมในการขยายธุรกิจ
  • ธุรกิจไหนเหมาะสมกับดวงชะตา
  • ลูกหนี้จะเบี้ยวไหม เก็บหนี้ได้หรือเปล่า
  • ซื้อ/ขาย ที่ดิน หรือสินทรัพย์ได้ไหม
การงานและอาชีพ
  • ทำอะไรรวย สุดยอดคำถามอันดับ 2
  • งานที่เหมาะสมกับดวงชะตา
  • เปลี่ยนงานได้ไหม และดีไหม
  • ได้เลื่อนตำแหน่งเมื่อไร

การศึกษา

  • เข้าเรียนต่อได้ไหม
  • เรียนคณะไหนดี
  • มีเกณฑ์เรียนต่างประเทศไหม
  • ได้ทุนเรียนหรือเปล่า
ครอบครัว

  • เมื่อไรมีลูก หรือความสามารถในการมีลูก
  • ปัญหาภายในครอบครัว หรือในเครือญาติ
  • ทรัพย์สมบัติ หรือมรดก
ความรัก และการแต่งงาน

  • เมื่อไรแต่งงาน
  • แนวโน้มความรักในปัจจุบัน
  • ลักษณะแฟน หรือเนื้อคู่
  • ปัญหา หรือประเด็นสำคัญในชีวิตคู่
สุขภาพ

  • สุขภาพทั่วไป ต้องระวังอะไรบ้าง
  • เกณฑ์การผ่าตัด หรืออุบัติเหตุ
ทั่วไป

  • เกณฑ์ท่องเที่ยว หรือการเดินทางไกล

ขั้นที่สี่ การให้ข้อมูล และสอบถามระหว่าง การพยากรณ์

ในการพยากรณ์ หมอดู มักจะเริ่มต้นจากการทำนายพื้นดวงชะตาของเรา พร้อมทั้งสอบถามข้อมูลว่าถูกต้องหรือไม่ เราควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนแก่หมอดูเมื่อถูกสอบถาม ไม่ตอบแบบอ้อม หรือไม่ตรงประเด็น เพราะหมอดูจะสอบเทียบดูปัจจัยในดวงชะตา กับการดำเนินชีวิตของเรา ว่าปัจจัยอะไรส่งผลสำคัญต่อเจ้าชะตา ดังนั้นข้อมูลที่ถูกต้องมีความสำคัญมาก ทำให้การพยากรณ์นั้นแม่นยำมากขึ้น

และเนื่องจากความหมายในการพยากรณ์นั้น จะอยู่ในภาษาของสัญลักษณ์ หรือ ปรัชญา ซึ่งสามารถตีความ หรือสื่อความหมายได้หลายรูปแบบ ดังนั้นเมื่อหมอดูออกคำพยากรณ์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราก็ควรให้ข้อมูลตามสถานะการณ์จริงในปัจจุบันประกอบ หมอดูจะสามารถถอดความหมายใน การพยากรณ์ นั้นให้สอดคล้องกับเหตุการณ์จริงในปัจจุบันมากขึ้น และเราควรสอบถามกับ หมอดู เพิ่มเติมว่านอกจากเรื่องที่บอกมาแล้วนั้นสามารถเป็นเรื่องใด หรือเหตุการณ์ลักษณะใดได้อีก

ผมขอยกตัวอย่างของตัวเอง ครั้งหนึ่งเคยไปดูไพ่ยิปซีกับหมอดูท่านหนึ่ง ตอนแรก หมอดูจะ พยากรณ์ ว่า จะต้องมีการอุปการะ หรือเดือนร้อนจากผู้หญิง แต่ในพื้นดวงไม่ได้บอกถึงเรื่องชู้สาวเลย แกก็เลยถามว่ามีบริจาคให้กับเด็กด้อยโอกาส หรือรับบุตรบุญธรรมหรือไม่ ผมจึงให้ข้อมูลเพิ่มว่า เป็นเรื่องที่พึ่งแต่งงานได้หรือไม่ หมอก็บอกว่าเป็นคนละเรื่องกัน ไม่อย่างนั้นก็อาจมีญาติผู้หญิงมารบกวนเรื่องเงิน ผมก็ถามต่อว่า ถ้าไม่ใช่เรื่องญาติ สามารถเป็นอะไรได้อีก เพราะประเมินแล้วมีโอกาสเป็นไปได้น้อย

สุดท้าย หมอดู เลยออกคำพยากรณ์ให้ว่า อาจจะเป็นแค่ก๊อกน้ำ หรืออุปกรณ์ในห้องน้ำเสีย จึงทำให้มีเรื่องที่ต้องซ่อมแซมห้องน้ำ ผลปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นานประมาณ 1 อาทิตย์ ฝักบัวชำระชำรุด ต้องซื้อเปลี่ยนใหม่ เป็นไปตามที่หมอดูได้ทำนายไว้

ถ้าเป็นคนอื่นที่ไม่ถามต่อ หรือให้ข้อมูลเพิ่มเติม ก็คงได้คำทำนายที่ไปคนละเรื่อง ซึ่งไม่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของตัวเองเลย คำทำนายก็ไม่สามารถเกิดประโยชน์กับเราได้

ขั้นที่ 5 การจดบันทึก หรือการบันทึกเทป

การจดบันทึกสามารถทำได้อยู่แล้ว ป้จจุบันกลายเป็นมาตราฐานไปแล้ว เพราะเห็นบางที่มีบริการทั้งกระดาษ ปากกา ดินสอ ลูกค้าแทบไม่ต้องเตรียมอะไรมาเลย

แบ่งหัวเรื่องไว้ให้เข้าใจง่าย เช่น พื้นดวง คำทำนาย 3 เดือน คำทำนายในปีนี้ คำทำนายในปีหน้า เป็นต้น ควรจดบันทึกเฉพาะประเด็นสำคัญ พร้อมรายละเอียดหลักพอประมาณ ไม่จำเป็นต้องจดทุกคำก็ได้ เพราะเมื่อหมอดูเริ่มพยากรณ์ ผมไม่แนะนำให้ขัดจังหวะ หากมีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามเพิ่มเติมก็ควรรอให้จบประเด็นนั้นเสียก่อน

ส่วนเรื่องการบันทึกเทป ปกติไม่ได้มีกฏกติกาหรือข้อห้ามแต่ประการใด แต่เพื่อป้องกันปัญหา หรือข้อพิพาทใดๆ ที่อาจจะเกิดได้ เราควรสอบถามกับหมอดูเสียก่อนว่าสามารถบันทึกเทปได้หรือไม่

ขั้นที่ 6 เราคือผู้ตัดสินใจ

สุดท้าย ผมขอย้ำว่าหมอดูไม่ใช่ผู้วิเศษที่จะสามารถล่วงรู้ทุกเรื่อง สิ่งที่หมอดูทำ คือ ให้การปรึกษาแก่เราเรื่องแนวโน้มชีวิตในอนาคตของเรา จากการแปลภาษาของดาว หรือสัญลักษณ์ที่ใช้ในการพยากรณ์ ตามช่วงเวลาที่เราประสงค์หรือสนใจ ให้อยู่ในรูปแบบภาษามนุษย์

เราเป็นผู้ตัดสินใจ หรือดำเนินการตามคำปรึกษานั้นนะครับ ไม่ใช่ หมอดู เป็นผู้กำหนดชีวิตชะตาชีวิตเรา