Thursday, March 01, 2007

ความหมายทางโหราศาสตร์ของดาว จาก www.horathai.com

อ.วรกุลได้อธิบายถึงความหมายทางโหราศาสตร์ของดาวแต่ละดวง ในกระทู้ คุยกันสบายๆ..........ตามประสาโหราศาสตร์ไทย ( 23)ของ horathai ที่ใช้ในโหราศาสตร์ไทย น่าสนใจมาก เมื่อเปรียบเทียบกับบทความ เรื่องความหมายของดาว จากหนังสือ Horoscope Symbols ของ Robert Hand พบว่าคล้ายคลึงกันมาก

ซึ่งทำให้เชื่อได้อย่างหนึ่งว่าปรัชญา หรือความหมายทางโหราศาสตร์ของดาว แต่ละศาสตร์ ก็ล้วนมาจากที่เดียวกัน เป็นความหมายเดียวกัน ทุกศาสตร์ใช้ด้วยกันได้

ดังนั้นความหมายที่ อ.วรกุล ให้มานี้ ในทางโหราศาสตร์สากลก็ย่อมสามารถใช้ความหมายเดียวกันนี้ เช่นเดียวกัน

==============================

การจำแนกกรอบธรรมชาติ หรือ ระบบธรรมชาติที่โหราศาสตร์ใช้ ดังที่กล่าวมาโดยสังเขปในข้อเขียน 3 – 4 ตอนก่อนหน้านี้ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ หากใครมีเวลา อยากจะแนะนำให้ขยายความแต่ละกรอบธรรมชาติออกไปเพราะยังกว้างขวางมาก เหมือน กล่าวถึงเพียง ภูเขา ทะเล มหาสมุทร โดยสังเขป เพียงเพื่ออ้างอิงลักษณะของสัตว์บก สัตว์น้ำ เท่านั้น ที่จริงยังมีเนื้อหาที่สำคัญๆอยู่อีกมาก โหราศาสตร์บางระบบวางกฎเกณฑ์อยู่ในกรอบธรรมชาติเดียวล้วนๆก็มี และก็สามารถใช้ศึกษาพยากรณ์ได้อย่างกว้างขวาง โหราศาสตร์ไทยจะซับซ้อนมากกว่า เพราะใช้ธรรมชาติถึง 4 ระบบในการวางหลักวิชา ก็จะเป็นประโยชน์ในอ้างอิงสำหรับการเขียนต่อไป ที่จริงกรอบธรรมชาติทั้งสี่นี่แหละคือ สิ่งสำคัญ แม้จะดูแล้วไม่เห็นจะมีอะไรเพราะเรายังใช้ไม่เป็น ดังนั้น ประโยชน์ขั้นแรกที่ควรใช้ก่อนก็คือ เมื่อเราอ่านหนังสือ หรือ ข้อความของผู้ใด หากพอจะดูน่าเชื่อถือดี ลองดูว่า สิ่งที่เขากล่าวถึงนั้นอยู่ในกรอบธรรมชาติระบบไหน แล้วเอามาขยายความก็จะเป็นความรู้ที่หาได้ยาก

อย่างเช่น เราเรียนจากตำราว่า ดาวคู่ “๒๗” นี้คือ ความแตกแยกพลัดพราก ความหมายนี้เกิดจากธรรมชาติในจักรวาลใหญ่ก่อน จันทร์ เป็นนามธรรมของการเพิ่มจำนวน เมื่อเสาร์ มีธรรมชาติที่ บีบรัดเข้า จึงทำให้ขัดกัน หากสองฝ่ายทำหน้าที่ของมันทั้งคู่ ก็จะทำให้ธรรมชาติถูกฉีกออกเป็นส่วนๆ ละเอียด ชิ้นเล็กๆ หมายถึงความแตกแยก ในระบบของจักรราศี เสาร์เป็นประ เรือนจันทร์กรกฏ และจันทร์ก็เป็นประเรือนเสาร์ ทำให้ธาตุของจันทร์และเสาร์ คุมตัวกันอยู่ไม่ได้ มักกระจายออกหากไปตกอยู่ในเกษตรราศีของอีกฝ่ายหนึ่ง และหากธาตุทั้งสองนี้ทำหน้าที่อะไรในดวงชะตาที่เกิดจากโลก เช่น เสาร์ประนั้นเป็นเจ้าเรือนกัมมะ ก็แสดงว่า อาชีพการงานนั้นย่อมที่จะพลัดพรากเสมอ เนื่องจากแตกสลายไม่มั่นคงถาวร แม้จันทร์พันธุไปเป็นประบ้าง ก็แสดงว่าเจ้าชะตาจะมีหลักแหล่งภูมิลำเนาไม่อยู่คงที่ มักจะมีความแตกแยกจากสถานะเดิม และพลัดพรากจากถิ่นเกิดไปเสมอ นี่เป็นคำทำนายที่มีต้นตอมาจากธรรมชาติของนามธรรม ที่เปลี่ยนมาเป็นธาตุในดวงชะตาที่เกิดจากโลก นามธรรมแต่ละดวงจึงแปรเป็นเรื่องราวและสิ่งของได้หลายชั้น ตามแต่ที่มันแสดงตนอยู่ในกรอบใด และนามธรรมพื้นฐานสองดวงขึ้นไปยังสามารถแปรเป็นนามธรรม และรูปธรรมอื่นๆได้อีกมากมาย ซึ่งวิธีนี้แหละที่เราใช้อ่านวัตถุสิ่งของและรูปลักษณ์ของคนในดวงชะตา

ข้อควรระวังในการดูดวงชะตาจึงอยู่ตรงนี้ก็คือ อย่าใช้ความหมายของนามธรรมในกรอบธรรมชาติหนึ่งไปผสมรวมกับอีกกรอบหนึ่งโดยไม่จำเป็น เพราะธรรมชาติเองจะมีความผสมกลมกลืนได้ในระดับของมันมากกว่าการผสมต่างระดับ นอกจากนั้น เราต้องระลึกไว้ว่า ความหมายที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้แสดงคุณโทษจนกว่าจะมีเหตุแสดงว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นถูกใช้เป็นคูณหรือเป็นโทษ คือ ธรรมชาติจะเป็นกลางๆอยู่เสมอ ไม่ได้ลำเอียงไปในข้างใด อย่างเช่น ๒๗ ที่กล่าวมา พวกเรามักมี อคติทายในทางไม่ดี ซึ่งไม่ถูก เปรียบเทียบอย่างง่ายๆ ๒๗ ความแตกแยกพลัดพรากนี้ รูปธรรมอาจจะเป็นขนมกรุบกรอบที่เปราะแตกง่าย เช่น ถั่ว ข้าวเกรียบ แคร้กเก้อร์ ฮานามิ เหล่านี้ก็ ๒๗ เหมือนกัน หากเรากินเป็นขนมอาหารก็อร่อยดีเป็นประโยชน์ แต่ถ้ามันติดคออุดหลอดลมก็เกิดโทษ จะเห็นว่าตัวขนมเองไม่ได้เกี่ยว แต่ผลที่รูปธรรมนั้นแสดงออกจะเป็นคุณหรือโทษนั้นขึ้นอยู่กับดวงชะตาต่างหาก

ที่นี้เราลองมา นึกเรื่องที่บอกมาแล้วดูโดยรวมบ้าง เราจะเห็นว่า จักรวาลใหญ่ หรือ เอกภพนี้เป็นที่มาของนามธรรมที่อยู่กระจัดกระจายทั่วไป เปรียบเหมือนพื้นที่ดินกว้างๆที่มีต้นไม้ใบหญ้า บ่อน้ำ และทางเดิน อยู่ตามธรรมชาติ ไม่ได้มีผู้ใดเป็นเจ้าของ สุริยจักรวาล นี้ ก็เหมือนมีผู้มาล้อมรั้วเข้าจัดเป็นอาณาเขตเฉพาะของตน ดวงชะตาของโลก ก็เป็นการวางผังต่างๆเพื่อให้ใช้พื้นที่แต่ละอย่างทำหน้าที่สำหรับใช้สอย เช่นเพื่อการเกษตร เพาะปลูก แปลงผัก ส่วนดวงชะตาส่วนตัว ก็คือบ้านของเจ้าของที่ ซึ่งใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้ ตามความพอใจของตนเอง เกิดจากลัคนาและเรือนของเรา

การที่บังเกิดลัคนา และเรือนทั้ง 12 เรือนนั้นสำคัญมาก เพราะลัคนาเป็นที่เข้าออกของธาตุที่ผ่านเข้าสู่ดวงชะตา แล้วหมุนวนผ่านเรือนทั้งสิบสองกลับไปออกที่ลัคนาอีก เรือนจากลัคนานี้ เท่ากับครอบกำหนดหน้าที่ให้แก่ เกษตรราศี ให้ทำหน้าที่เป็น เกษตรเรือน หรือ เจ้าเรือน ความสัมพันธ์ระหว่างเรือนและเจ้าเรือนจึงเป็น ระบบเรือนชะตา ในขณะเดียวกันที่ ธาตุถูกกำหนดหน้าที่ในเรือนชะตานั้นเอง มันก็มีลักษณะและรูปแบบที่กำหนดโดยจักรราศี และดวงโลกอีกด้วย เมื่อ มีสิ่งกระตุ้นคุณสมบัติของมันในกรอบระบบใด คุณสมบัตินั้นก็จะแสดงออกมาได้เสมอ เราจึงสามารถอ่านคุณสมบัติของมันในจักรราศี และ โลก เรียกว่า ระบบดาว แต่ถ้าหากระบบเรือนสามารถแสดงออกได้เมื่อใด คุณสมบัติเหล่านั้นจึงส่งผ่านมาแสดงออกแก่เจ้าชะตาได้ ดังนั้น ลัคนานี่เองจึงเป็นสิ่งที่ต่อเชื่อมระหว่างธาตุในกรอบระบบต่างๆ เนื่องจากลัคนาของเราจะปรากฏทั้งในจักรราศี โลก และ ดวงชะตาเรา ในตำแหน่งที่ตรงกัน

ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกรอบธรรมชาติทั้งสี่กับดวงชะตาแล้ว ดวงชะตาในโหราศาสตร์ไทย จึงเหมือนกับดวงชะตาที่มี 4 ชั้นทับกันอยู่ ซึ่งทุกกรอบธรรมชาติจะแสดงผลต่อดวงชะตาได้ ดวงชะตาแบบไทย ที่มีช่องเส้นคู่ขนานตรงกลางตัดกันซึ่งเราใช้กันอยู่นั้น จึงเป็นดวงชะตาชีวิตของเราเอง และเป็นช่องทางหรือ ผลที่บังเกิดจากกรอบธรรมชาติทั้งสี่สัมพันธ์กัน หากเราแบ่งตามหน้าที่ของปัจจัยในกรอบธรรมชาติแล้ว ก็จะเปรียบเหมือน ปัจจัยในกรอบของจักรวาล หรือ เอกภพ เป็นเสมือน ธาตุพื้นฐานวัตถุดิบ สำหรับสร้างชีวิต สุริยจักรวาล บังคับเอาธาตุพื้นฐานเข้ามาเป็นรูปแบบ ของชีวิตในที่กำหนดในจักรราศี โลก หมุนนำเอาธาตุในสุริยจักรวาลเข้ามาแสดงลักษณะของชีวิตและสิ่งแวดล้อมบนโลก และสุดท้าย คือดวงชะตาของเรา ซึ่งเกิดจากลัคนา และบังเกิดเรือน ซึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ หรือ หน้าที่ ซึ่งกำหนดให้แก่นามธรรมและรูปธรรมที่จะจะแสดงผลต่อชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจของเรานั่นเอง โดยย่อๆ หน้าที่ของธาตุ ในกรอบธรรมชาติทั้งสี่ที่เราจะจำได้ง่ายหน่อย ก็คือ เอกภพ คือ วัตถุดิบ(ปรัชญาธาตุพื้นฐาน) จักรราศี คือ รูปแบบ โลก คือ ลักษณะแสดงออก และ ลัคนา & เรือน คือ ความสัมพันธ์ (หน้าที่) หลักจำนี้ เมื่อเรานำมาใช้เพื่ออ่านดวงชะตา ก็จะไม่สับสน

การดูดวงชะตาแบบไทย เราจึงมักจะมองจากกรอบภายนอกเข้ามาสู่ภายใน ธาตุเดิมที่เคยเป็นนามธรรมในจักรวาลใหญ่ จึงเปลี่ยนแปลงไปมากสำหรับการใช้อ่านทั่วไปในโหราศาสตร์ ธาตุที่เข้ามาสู่โลกแล้ว และอยู่ในดวงชะตา ถือเป็น ธาตุดาว อย่างเช่น อาทิตย์ ที่เป็นการรวมตัวแล้วพุ่งขึ้นสูง จักรราศี คือรูปแบบที่สูง มีอย่างเดียว หรือ มีน้อย โลกมองเห็นลักษณะเป็นจุดเด่น เป็นเอก ของที่มีค่า มีราคา เป็นศูนย์รวม เช่นหัวหน้า พระราชา อัญมณี หรือเป็นประเภทสัตว์ปีก เพราะบินสูง ก็คือ ครุฑ นก ไก่ หลายชาติจึงเอาครุฑมาเป็นสัญลักษณ์แทนอาทิตย์หรือ พระราชา เมื่อใดเข้ามาสู่ดวงชะตา เช่นเป็นกัมมะ ก็เป็นงานราชการ (เกี่ยวกับพระราชา) ดังนี้เป็นต้น

เราลองดูธาตุดาวอื่นโดยไม่บอกกรอบธรรมชาติแล้วลองคิดดู จันทร์ ทำสิ่งเดียวเป็นหลายสิ่ง จึงเป็นของที่มีจำนวนมาก แพร่หลายไปทั่ว พวกของเหลว เช่น ประชาชน(มีเยอะ) เงินธนบัตร (แพร่ไป) น้ำประปา (ใช้ทั่ว) บริการประชาชน (เช่น หมอ พยาบาล) อาหาร ขนม บ้านเรือน ที่ดิน (พันธุโลก) แบคทีเรีย นัยน์ตา กำไร (ส่วนเพิ่ม) ฯลฯ

อังคาร รับพลังงานเข้าแล้วถ่ายพลังงานออก เป็นพวกกลไก เครื่องจักร รถยนต์ สปริง เหล็ก นักกีฬา ทหาร อาวุธ สมอง เขียนไปมากแล้ว พุธ ส่งผ่าน คือ สื่อสาร พูด เขียน เรียนหนังสือ ธุรกิจ ค้นคว้า เล่นการเมือง (สืบทอดอำนาจ) คิด น้ำ ของเหลว ของไหล หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ท เครื่องคอมพ์ เครื่องคิดเลข พฤหัส ขยายออก หรือ แผ่ไกลออกไป คือ การพัฒนา ความก้าวหน้า เพิ่มขึ้น ต่างประเทศ (แผ่ไปไกล) ผ้า กระดาษ (แผ่ออกทางแบน) ภาชนะหีบห่อ (ห่อของ) แก้วเลนส์ (ขยายแสง) แก้วน้ำ (ภาชนะ) กล้องโทรทัศน์ กล้องดูดาว ปัญญา วิจัย(ขยายความคิด) เสื่อ (ประโยชน์)

ศุกร์ สอดคล้องกลมกลืน สำเร็จ เป็นพวก รูปทรงกลม หรือ โค้ง ความราบเรียบ ศิลปะ เพลง (มีทำนอง) สีสัน นางงาม (36 -22 -36) เอ็นไซม์ แอร์ (สบาย) น้ำมันหล่อลื่น กามารมณ์ แมว (ชอบคลอเคลีย) เครื่องประดับ(ของสวย) สังคม (การประกอบกัน) เสาร์ หดตัวเข้า มั่นคง เช่น พวกก่อสร้าง อิฐหินดินทราย เหล็กเส้น เส้นผม (เส้นเล็ก) เส้นเอ็น ของละเอียด (หดมาก) จู้จี้ (ละเอียด) ใจแคบ (เพราะหด) เป็นทุกข์ (บีบรัด) ช้า (มั่นคงอยู่กับที่) สมาธิ รวมศูนย์ อาฆาต (มั่นคงไม่ยอมเลิก) นักโทษ(ที่แคบ) ไสยศาสตร์ (พลังงานแฝงสูง) ราหู ยึดติด หลงใหล เช่น แม่เหล็ก การพนัน สุรา ยาเสพติด นักเลง ยาดอง มืดมัว ภาพยนตร์ ละครน้ำเน่า โฆษณา นักการเมือง ไสยศาสตร์ เสน่ห์ เล่ห์กล พิศวาส นักเล่นกล คนโกง ฯลฯ อะไรทำนองนี้แหละ หากรวบรวมเอาตามที่ตำราทุกเล่มกล่าวถึง มารวมกันไว้ ก็คงเขียนไม่ได้หมด เพราะรวมๆแล้วก็เป็นธาตุและวัตถุหมดทั้งโลกนั่นเอง

ข้อความเหล่านี้เป็นการสรุปโดยย่อๆ อย่าเคร่งครัดมากเกินไป เพราะไม่มีธาตุใดอยู่ด้วยความหมายบริสุทธิ์ได้โดยลำพัง และธาตุมักจะวิ่งผ่านระดับ(ภพ) ขึ้นลงอยู่เสมอ ความหมายอาจจะแปรเปลี่ยนปะปนกันได้ แต่เราจะใช้พิจารณาเมื่อเราจำเป็นต้องศึกษาวิเคราะห์หลัก หรือ คำทำนาย เราจะจำแนกได้ถูกระดับเท่านั้น นอกจากนั้น เมื่อนามธรรม หรือ ธาตุดาวสองชนิดขึ้นไปเข้ามีปฏิกิริยาต่อกัน ความหมายก็จะเปลี่ยนแปลงไป เช่น อังคารเข้าเจือปนกับศุกร์ ทำให้ศุกร์เปลี่ยนจากความรักบริสุทธิ์เป็นกามารมณ์ และจะรุนแรงมากขึ้นเมื่อ อาทิตย์และจันทร์เข้าร่วม ดังนั้น ธาตุที่อยู่ในธรรมชาติใดก็ตาม เมื่ออยู่ในแวดวงล้อมของนามธรรมอื่น จึงไม่มีทางแสดงคุณสมบัติทางปรัชญาของตนเองโดยบริสุทธิ์แต่เพียงลำพังได้นั่นเอง

ผู้แสดงความคิดเห็นวรกุล ( ) วันที่ลงประกาศ 28-02-2007 04:58:02

No comments: