Tuesday, January 16, 2007

ปรัชญาของดาว จาก www.horathai.com ตอน 1

อ.วรกุล ท่านโพสในเวปบอร์ดของ www.horathai.com น่าสนใจมาก แม้ว่าจะเป็นกระทู้ "คุยกันสบายๆ..........ตามประสาโหราศาสตร์ไทย ( 21)" แต่อ่านแล้วอย่างไงก็สามารถใช้ในโหราศาสตร์สากลได้อย่างแน่นอน

+++++++++++++++++++++++++

อ.วรกุล :

ในตอนก่อนหน้านี้ได้กล่าวถึงระบบธรรมชาติทั้งสี่ที่มีผลต่อโหราศาสตร์ไทย ได้แก่ หนึ่ง จักรวาลใหญ่ทั้งหมด (หรือ เอกภพ) สอง สุริยจักรวาล สาม โลกของเรา สี่ โลกส่วนตัวของเรา มาแล้ว โหราศาสตร์เชื่อว่าทั่วทั้งจักรวาลล้วนแต่มีความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปในทางเดียวกันพร้อมกัน ธาตุทุกอย่างที่เป็นองคประกอบของธรรมชาติรอบตัวเรา รวมทั้งตัวเราด้วยนั้น ประกอบไปด้วยรูปธรรม และ นามธรรม ที่สามารถถ่ายเทสื่อสารได้และก็เปลี่ยนแปลงไปตามจักรวาลในส่วนรวม

โหราศาสตร์นั้นมีที่มาของการศึกษานามธรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นความหมายของดาว หรือ ราศี ล้วนแปลจากความหมายที่เป็น “ปรัชญา” ซึ่งแม้จะใช้คำไม่ถูกต้อง แต่ก็ยังไม่มีคำอื่นที่ดีกว่า ความหมายทางปรัชญาของธาตุในเอกภพที่เป็นส่วนรวมนี่เองซึ่งเราใช้กันในโหราศาสตร์และดวงชะตา ถือว่าเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนไปได้หลายรูปทั้งนามธรรมและรูปธรรม ขณะที่ธาตุเป็นรูปธรรม มันจะเป็นไปตามกฎทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์ เคมี หรือ กฎทางสสารและพลังงาน แต่ขณะที่มันเป็นนามธรรมนั้น เรากลับไม่เห็นกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายมันได้ นอกจากการศึกษาพฤติกรรมทางจิตวิทยาเท่านั้น ทำให้ความรู้เรื่องของธาตุในทางนามธรรมและจิตใจก็ตาม ไปปรากฏในคัมภีร์ทางปรัชญา ศาสนา และศาสตร์วิชาลึกลับต่างๆ เช่น ไสยศาสตร์และโหราศาสตร์ เป็นต้น

พวกเราเองอาจจะไม่ทราบ หรือ ไม่ทันคิดว่า ความจริงแล้วความหมายทางปรัชญาของธาตุที่เราเรียนทางโหราศาสตร์นั้น แท้ที่จริงมาจากปรัชญาโบราณ เพราะการที่สสารสามารถเปลี่ยนข้ามสถานะจากนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งสามารถแสดงผลต่อสัญชานความรู้สึกได้นั้น เป็นพื้นฐานหลักวิชาต่างๆในปรัชญาโบราณมาแต่เดิม โดยทั่วไปนามธรรมของจักรวาลมีอยู่มากมาย แต่โหราศาสตร์เองศึกษาเพียงนามธรรมและรูปธรรมที่มีผลต่อชีวิตมนุษย์เท่านั้น ชีวิตมนุษย์นั้น เกิดจากจังหวะวงรอบธรรมชาติที่สอดคล้องกับการสร้างร่างกายและชีวิตของมนุษย์ขึ้นมาโดยตรง ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อย แต่บางท่านกลับไปเห็นว่านี่เองเป็นทั้งหมดของโหราศาสตร์แล้ว ดังนั้น จึงเชื่อกันนั่นคือสัจธรรม ที่เป็นบิดามารดาของโหราศาสตร์ทุกระบบในโลก ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงความรู้ที่นักปรัชญาไสยศาสตร์ตะวันออกทราบกันอยู่นานแล้วในระบบความรู้อื่น

จักรวาลใหญ่ หรือ เอกภพนี้มีความเป็นอยู่โดยไม่มีผู้สร้างอื่น นอกจากมันสร้างผู้สร้างและผู้ทำลายขึ้นมาเอง จนดูเหมือนเป็นจักรกลที่มีชีวิต และกลไกของการดำรงอยู่ด้วยตนเองเป็นเวลานานนับกัลป์ หรือ ยาวนานนับไม่ได้นี่เอง ทำให้นามธรรมบางส่วน “มีอำนาจ” ในการทำหน้าที่ควบคุมตนเองและจักรวาลโดยส่วนรวมได้ ทั้งๆที่องค์เหล่านี้มีที่มาจากนามธรรมที่เป็นเพียงจักรกลไม่มี “ชีวิต” (ในความหมายของเรา) หรือ เป็นเพียงธรรมชาติเท่านั้นเอง นี่จึงเป็นที่มาของความหมายคำว่า “เทวดาเสวยอายุ” ที่นำมาใช้ในโหราศาสตร์ไทย “เทวดา” หรือ ธาตุในมหาทักษา จึงไม่ใช่เทวดาในความเชื่อตามวัฒนธรรมว่าเป็นเพียงวิญญาณของผู้ทำดีแล้วได้ขึ้นสวรรค์ แต่เป็นธรรมชาติ หรือ นามธรรม ที่แฝงอยู่ในตัวเราทุกอณูของร่างกายและจิตใจนั่นเอง

สิ่งที่จักรวาลใช้เป็นเครื่องมือควบคุมตนเองในระดับที่สูงกว่ากฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ โดยคร่าวๆ มีอยุ่ไม่กี่อย่างที่เราเรียกว่า ธาตุ หมายถึง ธรรมที่เป็นชิ้นส่วนของธรรมชาติ หรือ Elements of Nature ที่กร่อนลงมาเป็น Element หรือ “ธาตุ” ในความหมายทางฟิสิกส์แต่เพียงอย่างเดียว แต่โหราศาสตร์ยังคงให้ความหมายของ “ธาตุ” ทั้งในทางรูปธรรมและนามธรรมตามอย่างแนวคิดโบราณเช่นเดิม ดังนั้น เมื่อเราต้องการที่จะเข้าใจโหราศาสตร์และข้อความในตำรา เราก็ต้องเข้าใจความหมายเครื่องมือพื้นฐานของธรรมชาติ ในกรอบของจักรวาลใหญ่ หรือ เอกภพ เสียก่อน

ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจว่า “ธาตุ” นั้นมีมาก่อนดาวเคราะห์ ถึงแม้ไม่มีดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ในจักรวาลเลยแม้แต่ดวงเดียว “ธาตุ” หรือ “ธรรม” นี้ก็มีอยู่ก่อนนานแล้วเป็นเวลานานนับกาลเวลาไม่ได้ โดยทั่วไปเมื่อ “ธรรม” เหล่านี้ดำรงอยู่ในจักรวาล มันจะอยู่ในสภาพของนามธรรม ต่อเมื่อมีเงื่อนไขและจังหวะธรรมชาติที่เหมาะสม นามธรรมแต่ละประเภทก็จะกลายเป็นรูปธรรมได้ นามธรรมเหล่านี้ไม่มีชื่อ แต่การบัญญัติชื่อนั้นบัญญัติตามหลังรูปธรรมที่เราพบเห็นและตั้งชื่อแล้ว เช่น ดาวเคราะห์ ซึ่งหากย้อนกลับไปดู เราจะกลับพบว่าชื่อดาวเคราะห์นั่นเองที่มักบัญญัติตามนามของเทพเทวดาในเทววิทยาของอารยธรรมโบราณ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชื่อเหล่านี้มีที่มาจากนามธรรมมาก่อน แต่เพราะความไม่เข้าใจเรื่องนี้ จึงทำให้คนรุ่นหลังอย่างเราเข้าใจผิดคิดว่า ดาวเคราะห์นั้นเองเป็นบ่อเกิดที่มาของนามธรรมชื่อเดียวกัน

สิ่งที่สำคัญควรจะต้องทราบมีอยู่ว่า นามธรรมนั้นมีอยู่มากมายทั่วจักรวาลหรือเอกภพนี้จนอาจจะนับไม่ได้ ที่เราเอามาศึกษาหรือใช้ในโหราศาสตร์เป็นเพียงส่วนน้อยนิดเดียวเท่านั้น เพียง 7 – 8 อย่าง เหมือนอย่างช่างไม้ที่มีเครื่องมืออุปกรณ์มากมาย แต่มีเพียงไม่กี่อย่างที่นำมาพกติดตัว ดังนั้น นามธรรมที่เราเอามาใช้นั้น จึงจำเป็นต้องตีความหมายอื่นๆที่พอใกล้เคียงอนุโลมรวมเข้าในชื่อธาตุหนึ่งๆ ทำให้ความหมายธาตุมันกว้างขวางออกไป การที่เรานำนามธรรมมาใช้ได้น้อยก็เพราะว่า นามธรรมจำนวนมากไม่ได้มีจังหวะธาตุประจวบเหมาะพอที่จะสอดคล้องกับธรรมชาติของสุริยจักรวาลและโลกที่เราอยู่ จึงกลายเป็นธาตุแฝง ส่วนที่แสดงเด่นมีเป็นส่วนน้อย

ธาตุแต่ละชนิดในเอกภพจะมีธรรมชาติไม่เหมือนกัน ธาตุที่สำคัญอันดับแรก ก็คือ พฤหัส พฤหัสมีธรรมชาติที่ขยายตัวออกไป ดังนั้น เราจึงมักทำนายพฤหัสว่าหมายถึง ความเจริญ แต่การตีความเช่นนี้ไม่ถูกต้องเพราะเป็นการลำเอียงไปในทางดีและน่าพอใจ เนื่องจากธาตุที่เป็นเครื่องมือพื้นฐานของธรรมชาตินั้นเป็นกลาง เหมือนอย่างมีดพร้า ที่อาจจะเป็นโทษหรือเป็นประโยชน์ได้ทั้งสองทางสุดแต่นำมันมาใช้ทางใด ดังนั้น หากพฤหัสเข้าร่วมพัฒนาในสิ่งไม่ดี เช่น โรคภัย เนื้องอก ความหยิ่ง ความโลภ หรือ ความเลว ก็จะขยายตัวกลายเป็นโทษและมีความไม่ดีตามสิ่งนั้นๆไปด้วย นี่เป็นอุทาหรณ์ในการพิจารณาธาตุทุกอย่าง จะต้องพิจารณา “หน้าที่” ตามธรรมชาติของธาตุมากกว่าจะจดจำที่ภาพลักษณ์ ที่ทำให้เกิดความลำเอียงในการพิจารณาทั้งดาวเดิมและดาวจร และการทำนายนั้นต้องมีเหตุผลของมันตามธรรมชาติ ไม่ใช่การทำนายแบบสำเร็จรูป

ธาตุที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ เสาร์ เสาร์มีธรรมชาติที่ลดขนาดบีบตัวควบแน่นมั่นคง แต่ก็เป็นกลางๆในฐานะเครื่องมือพื้นฐานในธรรมชาติ การที่เสาร์บีบตัวลงนั้น ทำให้เกิดความมั่นคงได้ เพราะอะไรที่มัดรัดแน่นไม่กลวงเป็นโพรง ก็จะมีความแข็งแกร่ง ทนทาน ตามไปด้วย แต่การที่เสาร์จะให้โทษ หรือ ให้คุณก็เกิดจากการทำหน้าที่ของมันในแต่ละสถานการณ์เช่นกัน เช่น หากเสาร์เป็นธาตุที่เจือปนอยู่ในโครงสร้างที่ต้องรับภาระ (load) เช่น สิ่งก่อสร้าง ก็จะทำให้อยู่คงทนได้ เสาร์มักจะให้ความแข็งแกร่งเพราะคุณสมบัติของมันข้อนี้ ทำให้ผู้ที่มีเสาร์เด่นดีจะมีความอดทน สิ่งที่ได้คุณจากเสาร์ก็จะมั่นคงไม่ผันแปรง่าย แต่เสาร์ก็สามารถให้โทษได้ในที่ๆซึ่งไม่ต้องการให้มั่นคงอยู่กับที่ เช่น ติดคุกตะราง ยศตำแหน่งความก้าวหน้า หรือ งานที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง

เสาร์ มักจะให้โทษทุกข์แก่พวกนามธรรมเช่นพวกจินตนาการ จิตใจ ศิลปะ หรือ ดนตรี เช่น จันทร์ หรือ ศุกร์ จึงเป็นสิ่งที่ฝืนกันเหมือนศัตรูตามธรรมชาติ เพราะนามธรรมที่เกิดจากจิตใจอารมณ์ความรู้สึกนั้น มีธรรมชาติต้องการความฟุ้งไปไม่อยู่นิ่งกับที่ หากมีอิทธิพลของเสาร์เจือปนอยู่ก็จะเกิดการบีบรัด ฝืนความต้องการของจิตใจ จนกลายเป็นนิสัยเจ้าทุกข์ แต่ทางกลับกัน หากจิตใจที่ต้องการสงบ สมาธิ รวมลงเป็นหนึ่ง จึงใช้จะประโยชน์จากเสาร์ได้ดีมาก หากมีปัญญาความเพียรดี มักจะเป็นผู้ทำภาวนาได้ผลดีในทางสมาธิวิปัสสนา จิตไม่ฟุ้งกระจายแส่ส่าย เพราะเสาร์นั่นเองควบคุมธาตุของใจและอารมณ์ให้รวมลงได้แข็งแกร่งและมีกำลังมาก

ธรรมชาติของ พฤหัส และ เสาร์นี้ จึงเป็นเครื่องมือใหญ่ในการควบคุมธรรมชาติเอง โบราณจึงถือเป็นประธานศุภเคราะห์และประธานบาปเคราะห์ เมื่อมีการขยายตัวแล้วก็บีบกลับเล็กลงแล้วขยายใหม่ ธรรมชาติโดยรอบจะเกิดขัดแย้งปั่นป่วนจากการขยายและหดตัวของธาตุทั้งสองซึ่งกินเวลายาวนาน จนถึงกับถือว่าเป็นยุคหนึ่งๆ ทั้งพฤหัส และเสาร์เป็นธาตุที่มีอยู่ในทุกสิ่งในธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่ควบคุมธรรมชาติในทุกอณูของสรรพสิ่งด้วย เหตุที่กำหนดให้มันเป็นประธานของพระเคราะห์ เพราะมีนามธรรมที่แบ่งได้เป็นสองพวก ซึ่งมีธรรมชาติลักษณาการส่งเสริมการสร้างขยายและหดตัวของจักรวาล ทำให้เกิดสมดุลนั่นเอง ไม่ใช่เป็นประธานฝ่ายความดี และความชั่ว อย่างที่สอนกันมาผิดๆ

No comments: